xs
xsm
sm
md
lg

หมดช่วงโปรโมชัน! ภาวะ ศก.อีสานแค่ทรงตัว ราคาสินค้าเกษตรทรุด หนี้ครัวเรือนพุ่งตัวถ่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - หมดช่วงโปรโมชัน! ภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานไตรมาสแรกปี 59 แค่ทรงตัว รายได้ภาคการเกษตร-หนี้ครัวเรือนเป็นตัวถ่วง ยังดีที่มีงบโครงการตำบล 5 ล้าน และเม็ดเงินนอกงบประมาณคอยพยุง ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 2 จะทรงหรือทรุดขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น

วันนี้ (4 พ.ค.) นายสมชาย เลิศลาภวสิน ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 1/2559 ว่า เศรษฐกิจของภาคอีสานโดยภาพรวมในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 ที่ผ่านมายังทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 เป็นไปตามการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีทิศทางทรงตัว เนื่องจากผลบวกปัจจัยชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการบริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี 2558 หมดลง

โดยการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการเร่งซื้อไปมากก่อนการปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันที่แผ่วลง ขณะที่ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงยังขยายตัว

อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคเกษตรเองยังคงลดลงจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรก็อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการใช้สินเชื่อทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ทำให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กระนั้นก็ตาม นายสมชายระบุว่า เศรษฐกิจของภาคอีสานยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวจากเม็ดเงินงบประมาณของโครงการในมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบลหรือโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทที่มีการเบิกจ่ายถึง 6,387.9 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558 ที่มีการเบิกจ่ายเพียง 274.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินนอกงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายต่อเนื่องในส่วนของโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและถนน

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังลดลงจากภาคการก่อสร้าง เห็นได้จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยที่หดตัว อย่างไรก็ดี ยอดขายวัสดุก่อสร้างยังขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากการทยอยลงทุนก่อสร้างของภาครัฐหลังจากที่มีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558

ในส่วนของเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการยังลดลง ขณะที่เงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนักลงทุนมีความกังวลกับกำลังซื้อของภาคเอกชนและการส่งออกลดลง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง

นายสมชายกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี ยังมีกิจการขนาดใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนในภาคอีสาน ได้แก่ กิจการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบ ที่ จ.นครราชสีมา วงเงินลงทุน 10,721 ล้านบาท, กิจการผลิตเยื่อกระดาษที่ จ.บุรีรัมย์ วงเงินลงทุน 6,460 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกิจการผลิตอาหารสัตว์ เงินทุน 1,591 ล้านบาท ที่ จ.บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี, กิจการผลิตยางแท่ง เงินทุน 933 ล้านบาท ที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.สกลนครและกิจการผลิตเอทานอล ที่ จ.กาฬสินธุ์ เงินทุน 748 ล้านบาท เป็นต้น

นายสมชายยังได้กล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของภาคอีสานในไตรมาสที่ 2 นี้ คาดว่าจะยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายตัวทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนและเอเชียที่อยู่ในภาวะโน้มลง ราคาสินค้าทางการเกษตรยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นตัวถ่วงทำให้กำลังซื้อในตลาดมีอย่างจำกัด

“สำหรับปัจจัยสนับสนุนนั้นยังคงต้องพึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักเท่านั้น” นายสมชายกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น