โดยดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
หากกล่าวถึงความคาดหวังของผู้ลงทุนในปีนี้ไม่ว่าจะภายในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ผมเชื่อมั่นว่า หลายท่านยังคงมีความคำถามเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะสามารถฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายของทางการในประเทศนั้นๆ หรือไม่ เพราะภาพของเศรษฐกิจย่อมเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในการเลือกลงทุนสินทรัพย์แต่ละประเภทในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างแน่นอน
ในภาพเศรษฐกิจโลก ผมมองว่า ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวได้ นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เพราะจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นซึ่งผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งล่าสุดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% เช่นเดิมทำให้ภาพของการลงทุนถือว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐยังคงมีโอกาสพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงการประชุมเดือนมิ.ย. 59 เป็นต้นไป ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อครับ เพราะหากภาพเศรษฐกิจสหรัฐชัดเจนขึ้นและความกังวลต่อความผันผวนของตลาดการเงินลดลง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะค่อยๆปรับขึ้นอีกครั้ง
ในส่วนยูโรโซนและจีนที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นหลังจากที่มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการประชุมของธนาคารกลางยุโรปที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ระดับ 0% จาก 0.05% ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.10% สู่ระดับ -0.40% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสู่ระดับ 0.25% จาก 0.30% พร้อมเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์รายเดือนเป็น 80,000 ล้านยูโรจากเดิม 60,000 ล้านยูโร ซึ่งอยู่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมทั้งทางการจีนเองที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์กว่า 4 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยปัจจุบันเศรษฐกิจจีนก็เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นและมีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม ผมยังให้น้ำหนักด้านทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวและส่งสัญญาณเปราะบางอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของการบริโภคและการส่งออกหลังค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมือง Kumamoto ที่อาจกระทบต่อ Sentiment การบริโภคและการลงทุนบางส่วน
ขณะที่นโยบายการเงินที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศใช้เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบก็ดูเหมือนยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของญี่ปุ่นกลับคืนมาได้ ทำให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ต่อไปว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคงต้องมีโอกาสดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ควบคู่กับนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้นโยบายการเงินแบบใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากแนวโน้มของเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้
ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยผมยังคงมุมมองเชิงบวก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าและน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เป็นหลัก
ขณะที่การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากยอดการส่งออกไทยในเดือน ก.พ. - มี.ค. 59 ที่เริ่มปรับตัวเป็นบวกหลังจากที่หดตัวมาหลายเดือนก่อนหน้าติดต่อกัน รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการกระตุ้นการบริโภคจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่การกำหนดนโยบายการเงินนั้น ผมมองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงไว้ที่ระดับ 1.50% เช่นเดิมจนกระทั่งถึงสิ้นปี 59 เพื่อรักษาช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในคราวจำเป็น รวมทั้งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเองก็ยังไม่เป็นปัจจัยกดดันมากนักเนื่องจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับต่ำ
สัปดาห์หน้าเรามาคุยกันต่อครับว่า หลังจากที่ผมส่องภาพเศรษฐกิจโลกและไทยไปแล้ว ภาพการลงทุนสินทรัพย์ของเราในช่วงถัดจากนี้จะเป็นอย่างไร
• “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”