xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จักกับนโยบายดอกเบี้ยติดลบ (NIRP)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย บลจ.ทิสโก้

“นโยบายดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy - NIRP)” - ในช่วงนี้นักลงทุนอาจได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น จากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ จากเดิมที่ 0.1% มาเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้นซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ -0.1% รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate) ลงจาก -0.3% มาที่ -0.4% ในการประชุม ECB ครั้งล่าสุดในวันที่ 10 มี.ค. การกำหนดนโยบายเช่นนี้อาจทำให้นักลงทุนสงสัยว่า ดอกเบี้ยติดลบ คืออะไร และจะมีผลต่อการลงทุนอย่างไร

การใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) ถือเป็นมาตรการการผ่อนคลายทางการเงินแบบไม่ปกติ (unconventional monetary policy) ที่นำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลักการง่ายๆ ก็คือ ธนาคารพาณิชย์จะถูกเรียกเก็บเงินเมื่อฝากเงินสำรองส่วนเกินไว้กับ ธนาคารกลาง ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นให้สถาบันการเงินต่างๆ ต้องเร่งปล่อยกู้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ โดยหวังผลจากต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ขณะเดียวกันค่าเงินที่อ่อนค่าลงจะส่งเสริมการส่งออก นอกจากนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำมากจะช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น

อย่างไรก็ดี การใช้ NIRP ก็มีผลลบอยู่บ้างเช่นกัน เช่น

1. ผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน หากสถาบันการเงินมีสภาพคล่องล้นและไม่สามารถปล่อยกู้ได้ตามเป้า มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากลงเพื่อไล่เงินฝาก ซึ่งจะกระทบต่อผู้ฝากเงินที่ไม่สามารถกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นได้ และจะกระทบต่อกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้

2. ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะถูกลงโทษด้วยการโดนเก็บดอกเบี้ยในเงินสำรองส่วนเกินที่ฝากไว้กับธนาคารกลาง ทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง 3. หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปเรื่อยๆ จนติดลบ ประชาชนจะถือครองเงินสดมากขึ้น (Silent Bank Run) ซึ่งจะลดความสามารถในการปล่อยกู้ของธนาคาร (Credit Creation) 4. NIRP จะทำให้การลงทุนมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แต่จำเป็นต้องไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เช่นในตลาดหุ้น เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนเท่าเดิม จะทำให้ระยะเวลาการถือครองหลักทรัพย์ค่อนข้างสั้น ทำให้ตลาดมี Volatility ที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ NIRP ที่ออกมานั้นจะให้ผลดังที่ BOJ และ ECB ต้องการเห็นหรือไม่คงต้องจับตาดูต่อไป เพราะใช่ว่าการใช้นโยบายทางด้านดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน ที่การเติบโตชะลอลง ยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ดังนั้น ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุน ผจก.กองทุนเชื่อว่าโดยธรรมชาติของการลงทุนที่นักลงทุนมักจะย้ายการลงทุนจากที่ที่ให้ผลตอบแทนต่ำมายังที่ที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงมีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่เราจะเห็นการไหลออกของเงินลงทุนบางส่วนจากประเทศที่มีผลตอบแทนต่ำ (Yen and Euro Carry Trade) มาสู่การลงทุนในตลาดเกิดใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการลงทุนในพันธบัตร หรือการลงทุนในหุ้น ดังจะเห็นได้จาก Foreign Fund Flow ที่ไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยภาพของเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณอ่อนแอลง และความกังวลในแง่ประสิทธิผลของมาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศนำออกมาใช้

อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ผู้จัดการกองทุนยังคงมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นเดิมว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีความผันผวนสูง การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากการ Carry Trade ยังมีโอกาสที่จะไหลเข้าเอเชียอย่างต่อเนื่อง เงินลงทุนมีแนวโน้มจะกระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงเช่น พันธบัตรรัฐบาล และในหุ้นที่มี Earning Visibility ที่ชัดเจน มีความเสี่ยงในการดำเนินงานต่ำ และให้เงินปันผลในระดับสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น