xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มน่ากังวลหรือ Overreact ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

เดือนมกราคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงประมาณ 8% โดยปรับตัวลงค่อนข้างแรงในช่วงต้นเดือน ค่าเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่องกดดันภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น

ขณะที่ภาพของเศรษฐกิจก็ยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลและท่าทีที่พร้อมจะผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเหมือนประเด็นที่สร้างความคาดหวังให้ผู้ลงทุน

โดยล่าสุด ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองที่ธนาคารฝากกับธนาคารกลางลงเป็นอัตราติดลบ 0.1% เพื่อผลักดันให้ภาคธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

แต่ดูเหมือนว่า ตลาดก็มีความกังวลว่า การดำเนินมาตรนโยบายดอกเบี้ยติบลบของ BOJ อาจฉุดผลกำไรของธนาคาร และอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าไปอีก

ความผันผวนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยหลักมาจากนักลงทุนมีความกังวลต่อปัจจัยเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มไม่ค่อยชัดเจนรวมถึงสงครามค่าเงินทำให้เกิด Overreact และลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและเลือกหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ พันธบัตรรัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ทำให้ภาพการลงทุนในทุกๆสินทรัพย์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เคยคาดการณ์ว่าจะยังดีอยู่หรือไม่นั้น หากพิจาณาปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่จับตามองในขณะนี้ หลังประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไปเมื่อเดือนที่แล้ว

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับนโยบายล่าสุดของทาง BOJ ผมมองเป็น 2 แนวทาง ประการแรก นโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสมกับภาพสังคมในประเทศญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน เพราะประชากรของประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ดังนั้น นโยบายดังกล่าวอาจช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ไม่มาก ประการที่สอง การประกาศนโยบายดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐยังให้ความสนใจกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยติดลบท้ายที่สุดอาจสามารถช่วยกระตุ้นได้ไม่มาก

แต่ผมเชื่อว่าทางการญี่ปุ่นยังมีความสามารถในการดำเนินนโยบาย(Policy Space) ทำให้คาดว่า น่าจะมีมาตการผ่อนคลายทางการเงินอีกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นเลือกใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด และยังไม่เห็นการนำนโยบายการคลังมาใช้เท่าที่ควร ซึ่งในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมนี้ ผมมองว่า ภาครัฐน่าจะต้องมีนโยบายการคลังอื่นๆ ออกมาบังคับใช้ควบคู่กัน เช่นการลงทุนของภาครัฐบาลในโครงการต่างๆ อีกเหตุหนึ่งคือในช่วงกลางปี ประเทศญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก โดยอาจจะเป็นแรงผลักดันเร่งให้ภาครัฐบาลต้องประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อรักษาเสียงส่วนใหญ่ให้พรรครัฐบาล

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ผมอยากให้ติดตามในช่วงนี้ สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือ ทิศทางของค่าเงินเยน ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน เพราะบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

โดยอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างประเทศจีน ประกอบกับ หากในเดือนมีนาคม ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีมติพิจารณาเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปตามที่ตลาดคาดการณ์นั้น จะส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ โดย YTD (16 ก.พ.) ค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ประมาณ 114 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐด้านการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินเยน

ในส่วนของคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจในตลาดหุ้นญี่ปุ่น หากผู้ลงทุนรับความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงไม่ได้ควรชะลอการลงทุน เพราะตลาดยังมีปัจจัยลบเกี่ยวกับราคาน้ำดิบมาเป็นตัวแปรที่เพิ่มความผันผวนในตลาดหุ้นอยู่ โดยราคาน้ำมันดิบช่วงนี้ก็ความผันผวนตามกระแสข่าวมากกว่าปัจจัยพื้นฐานด้านกำลังการผลิตที่แท้จริง ซึ่งอาจต้องรอให้ราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพมากขึ้นก่อนเข้าลงทุน

แต่สำหรับผู้ลงทุนในระยะยาว หากดัชนีแตะที่ระดับ 14,000 จุด ผมมองเป็นโอกาสทยอยลงทุนได้ ณ ปัจจุบัน ดัชนีNikkei225 เคลื่อนไหวที่ระดับ 16,000 จุด ทำให้อัตรากำไรต่อราคาหุ้น(พีอี) ปรับตัวอยู่ที่ 17 เท่า ถือว่าเป็นระดับราคาที่ไม่แพง หากเทียบกับอดีต ประกอบกับยังมีปัจจัยสนับสนุนเกี่ยวกับความหวังจากมาตรการภาครัฐอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ครับ

•ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

• ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น