ถือว่าเซอร์ไพรส์พอสมควรที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพราะตลาด และนักวิเคราะห์ไม่ได้นึกถึงประเด็นนี้มาก่อนเลย แม้ว่านโยบายแบบนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกของโลก เพราะประเทศที่ใช้นโยบายแบบนี้เพราะธนาคารกลางยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดนก็ทำมาก่อน
พูดง่ายๆคือ ธนาคารกลางญี่ปุ่นจงใจที่จะไม่ให้ธนาคารเก็บเงินไว้กับตัว และเร่งให้มีการปล่อยกู้ออกไปให้แก่ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการลงทุน และจับจ่ายซื้อของนั่นเอง ไม่เพียงเท่านี้ BOJ ยังมีมาตรการผ่อนคลายทางด้านการเงินออกมาอีก เช่น เข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดหุ้นอย่างกองทุน ETF และกองทุน REIT ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังบอกอีกว่า อาจจะต้องเพิ่มอัตราการติดลบของดอกเบี้ยให้มากขึ้นหากจำเป็นต้องกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในตลาด
ผลที่เกิดขึ้นคือ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงทันที และน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว ส่วนตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังมีการแถลงข่าวแต่สุดท้ายก็ปิดตลาดในแดนลบ อาจจะเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ก็ออกมาให้สัญญาณในการประชุมครั้งล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เองว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามนั้นเสมอไป อาจจะขึ้นเพียงแค่ 2 ครั้งในปีนี้ แสดงว่าสหรัฐฯ จะยังคงดอกเบี้ยต่ำต่อไป แม้ว่าจะปรับขึ้นมาแล้ว ส่วนธนาคารกลางยุโรปนอกจากคงดอกเบี้ยติดลบ ยังประกาศเพิ่มวงเงินการทำ QE ของตัวเองในการประชุมรอบล่าสุดอีก
หากดูจากสัญญาณเหล่านี้อาจมองเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอาจเป็นสัญญาณของการเกิดฟองสบู่รอบใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ (ทั้งๆ ที่รอบนี้ก็ยังไม่จบดี) หากยังจำเหตุการณ์หนี้ซับไพรม์ได้ ต้นเหตุของปัญหามาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นระยะเวลายาวนานนี่เอง ทำให้เงินที่ถูกผลิตออกมาไหลไปอยู่ในสินทรัพย์ที่สามารถเก็งกำไรได้ เช่น หุ้น และอสังหาริมทรัพย์
ทว่า วิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้อาจไม่ได้อยู่ในตลาดการเงิน อย่างเช่นตลาดหุ้น แต่น่าจะไปอยู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเศรษฐกิจในเวลานี้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังเป็นทรงขาลง หรือทรงตัว โอกาสที่จะเข้าไปเก็งกำไรจึงมีน้อย แต่อสังหาริมทรัพย์มีความแตกต่างคือ มีส่วนเกี่ยวข้องต่อภาคเศรษฐกิจจริง คือ ยังมีกลุ่มคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยอยู่ด้วยนั่นเอง
การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจเป็นแรงจูงใจให้มีการซื้อที่อยู่อาศัย และแน่นอนว่าจะมีการเก็งกำไรรวมอยู่ในนั้นด้วย ประเทศไทยเองก็อาจมีต่างชาตินำเงินเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็เป็นได้ ถ้าหากเศรษฐกิจโลกในอนาคตยังไม่ฟื้นตัว อสังหาริมทรัพย์อาจจะเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจอีกรอบก็เป็นได้ซึ่งอาจจะย้ายมาเกิดในเอเชียแทน
วิกฤตซับไพรม์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินอาจจะได้รับผลกระทบ แต่หากยังจำได้ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่หากต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นต่ออสังหาริมทรัพย์ วิกฤตจะเกิดขึ้นยาวนาน เพราะอสังหาริมทรัพย์มีส่วนประกอบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายส่วน ตั้งแต่ภาคธนาคาร ก่อสร้าง บริการ ค้าปลีก
วงจรของวิกฤตเศรษฐกิจของทุกๆ ครั้งจะต้องเริ่มต้นจากวิกฤตด้านการเงิน ลามไปจนถึงเศรษฐกิจจริง เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง ต้องจับตาดูว่ารอบนี้จะเกิดฟองสบู่ขึ้นอีกรอบหรือไม่
นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง