เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสส่งท้ายปี 2015 หดตัวเกินคาด ตามภาวะซบเซาของภาคส่งออกและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ถือเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่ตอกย้ำความล้มเหลวสำหรับฟื้นฟูการเติบโตของนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” และเป็นภารกิจหนักของบรรดาผู้วางนโยบายที่กำลังกังวลว่าความปั่นป่วนในตลาดการเงินอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวที่เปราะบางของแดนปลาดิบ
การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอลงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวถึง 0.4% ในไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา หรือลดลง 1.4% ต่อปี เกินกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.2% และถือเป็นไตรมาสที่สองในปี 2015 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยับขึ้นแผ่วเบา 0.4% ตลอดทั้งปีก็ตาม ซึ่งตอกย้ำความท้าทายของโตเกียวในการจัดการภาวะเงินฝืดและส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
ความพยายามในการฟื้นเศรษฐกิจตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่เรียกขานกันว่า “อาเบะโนมิกส์” ยังเผชิญแรงเหวี่ยงจากภาวะตลาดหุ้นเทกระจาดนับจากต้นปี และการแข็งค่าของเงินเยนที่คุกคามผลกำไรของภาคธุรกิจ ดับความหวังของอาเบะในการเห็นบริษัทต่างๆ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการเติบโตของรัฐบาล ขึ้นค่าแรงระหว่างการตกลงด้านแรงงานประจำปีในฤดูใบไม้ผลินี้
ข้อมูลจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่เผยแพร่ออกมาในวันจันทร์ (15) ยังระบุว่า การบริโภคของภาคเอกชนที่คิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพี ลดลง 0.8% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ 0.2%
ถึงกระนั้น โนบูเทรุ อิชิฮาระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจก็แถลงว่า เศรษฐกิจกำลังมุ่งหน้าสู่การปรับตัวในระดับปานกลางโดยอ้างอิงพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง
จุงโกะ นิชิโอกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้งชี้ว่า การบริโภคของเอกชนอ่อนแอลงอย่างชัดเจน เศรษฐกิจหยุดนิ่ง แต่คงต้องรออีกระยะกว่าที่รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมา โดยนิชิโอกะคาดว่า แบงก์ชาติญี่ปุ่นจะผ่อนคลายนโยบายอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดต้นเดือนหน้า
บรรดาผู้วางนโยบายยังพอใจชื้นขึ้นบ้างจากข้อมูลที่ระบุว่า การใช้จ่ายเงินทุนเพิ่มขึ้น 1.4% จากที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.2%
แต่นักวิเคราะห์ยังสงสัยว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้จริงอย่างที่อิชิฮาระหวังไว้หรือไม่ ท่ามกลางภาวะที่ตลาดการเงินยังคงปั่นป่วน แถมเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว บ่อนทำลายแนวโน้มกำไรของภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีที่แล้วลดลง 0.9% ตอกย้ำว่าบริษัทญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความต้องการที่ซบเซาลงในตลาดเกิดใหม่
นอกจากนั้น ในภาวะที่อาเบะโนมิกส์กำลังตกราง ส่วนบีโอเจก็ยังไม่สามารถผลักดันอัตราเงินเฟ้อสู่เป้าหมาย 2% ได้สำเร็จ อาเบะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าขึ้นภาษีการบริโภครอบสองในปีหน้าตามแผนหรือไม่ เนื่องจากแม้ช่วยควบคุมหนี้สาธารณะของประเทศได้ แต่มาตรการนี้ก็อาจบ่อนทำลายการใช้จ่ายไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าแผนการกระตุ้นการเติบโตของอาเบะด้วยการทุ่มงบการใช้จ่ายของรัฐบาล ควบคู่กับการผ่อนคลายทางการเงินของบีโอเจและการปฏิรูปเศรษฐกิจ ได้ผลิดอกออกผลสมใจในช่วงต้น กล่าวคือทำให้เงินเยนอ่อนลงอย่างมากและส่งเสริมกำไรของผู้ส่งออก รวมทั้งหนุนตลาดหุ้นโตเกียวพุ่งฉิว
แต่การเติบโตอย่างยั่งยืนยังเป็นเพียงความหวัง ความพยายามในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของอาเบะถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าดูกระพร่องกระแพร่งไม่จริงจัง
ทาโร่ ไซโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ คาดว่า แผนการขึ้นภาษีการบริโภคในปีหน้าจะทำให้มีการใช้จ่ายครั้งใหญ่ทิ้งทวนช่วงปลายปีนี้ แต่ไม่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างง่ายดาย
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในตลาดเงินยังทำให้มีการคาดเดากันว่าบีโอเจอาจเข้าแทรกแซงตลาดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีเพื่อหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วแบงก์ชาติแดนปลาดิบเพิ่งประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพื่อลงโทษธนาคารพาณิชย์ที่กักตุนทุนสำรองส่วนเกินโดยฝากไว้กับบีโอเจแทนที่จะนำออกปล่อยกู้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากวิจารณ์ว่า การกระทำของบีโอเจไร้ผล เนื่องจากค่าเงินเยนแข็งขึ้นจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ