xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบต่อราคาทองคำจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางชั้นนำของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในช่วงระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองคงจะหนีไม่พ้นการประชุมนโยบายทางการเงินธนาคารกลางของประเทศชั้นนำของโลก เช่น ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี (วันที่ 10 มี.ค.) ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ (วันที่ 14-15 มี.ค.) และที่สำคัญสุดคือธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (วันที่ 15-16 มี.ค.) วันนี้ ทาง YLG ได้ประมวลผลการประชุมพร้อมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อราคาทองคำมาให้นักลงทุนทองคำได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในระยะต่อไป

เริ่มต้นจากการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค. โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลงมติในการประชุมปรับลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ลงสู่ระดับ 0% จาก 0.05%, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.10% สู่ ระดับ -0.4% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสู่ระดับ 0.25% จาก 0.3% นอกจากนี้ อีซีบียังลงมติเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์รายเดือนเป็น 8 หมื่นล้านยูโร จากเดิม 6 หมื่นล้านยูโร  ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหญ่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสกัดกั้นภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด หลังการประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้ค่าเงินยูโรดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 6 สัปดาห์ที่ 1.0820 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขาย ส่งผลกดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1,237.06 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดเปลี่ยนทิศทางในเวลาต่อมา หลังจาก นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ส่งสัญญาณว่า “อีซีบีจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก และอีซีบีจะไม่ใช้โครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหลายอัตรา”  ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายดรากี ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นยุโรปปิดตลาดดิ่งลง 1.77 %  นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น ส่งผลบวกต่อราคาทองคำ โดยราคาทองคำปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% ในวันพฤหัสบดี และพุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดที่ 1,282.51 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือนในช่วงเช้าวันที่ 11 มี.ค.

ขณะที่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14-15 มี.ค.) ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ มีมติคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่ได้ตัดสินใจใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมครั้งก่อน โดยที่ประชุมบีโอเจ มีมติคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ระดับ -0.1% สำหรับสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับบีโอเจ ผลการประชุมส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นกดค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ราคาทองขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากตลาดกำลังรอความชัดเจนจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด และล่าสุด ได้แก่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อกลางดึกของวานนี้ (วันที่ 16 มี.ค.) ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติ 9-1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ นอกจากนี้ เฟดยังระบุุว่า สหรัฐฯ ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และการคาดการณ์ครั้งใหม่จากผู้กำหนดนโยบายบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งๆ ละ 0.25% ภายในสิ้นปีนี้  ซึ่งผลการประชุมส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ดิ่งลง 1.3 %แตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนในระหว่างช่วงการซื้อขาย และเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นกว่า 2.5% หรือ 30.33 ดอลลาร์ต่อออนซ์

จะเห็นได้ว่าราคาทองคำมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินเป็นอย่างมาก ดังนั้น ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำตลอดปีนี้ ซึ่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำของโลก เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางจีน ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าน่าจะยังคงมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลต่อการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด หากเฟดจำเป็นต้องชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก็จะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ แต่หากเฟดยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ก็จะส่งผลกดดันราคาทองคำเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น