“คลัง” พร้อมหนุน FinTech และเน้นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้ไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำฟินเทค แต่ต้องศึกษาช้อดี-ข้อเสียจากต่างประเทศ ป้องกันผลกระทบเสถียรภาพของสถาบันการเงิน พร้อมมอบ “ธปท.-ก.ล.ต.” ดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดงาน “CaF I : Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem” โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ CaF I : Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem หรือแผนการกำหนดทิศทาง และบริบทอุตสาหกรรม FinTech ในประเทศไทย ที่ล่าสุด ภาคเอกชนกว่า 50 บริษัทได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรม FinTech แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี โดยในส่วนนี้ภาครัฐเองพร้อมจะเข้าไปให้การดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยเองมีข้อได้เปรียบหลายๆ ประเทศ แม้จะมีการเริ่มดำเนินการเรื่อง FinTech ช้ากว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่เชื่อว่าไทยจะสามารถพัฒนาเรื่องนี้ให้ทัดเทียมกันได้ จากข้อได้เปรียบเรื่องขนาดตลาดที่ไม่เล็ก หรือใหญ่เกินไป ขนาดเศรษฐกิจที่ยังเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดี มีปริมาณการใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการจะพัฒนาให้ FinTech ก้าวต่อไปได้ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการคลังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
“ที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีทั้งกรณีที่ FinTech สร้างประโยชน์ และกรณีที่ล้มเหลว เช่น กรณีการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีผู้เสียหาย และมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก แต่ในส่วนนี้หากใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ และเอกชน รวมทั้งยังเป็นการสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกด้วย รวมถึงในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนมาลงทุนกับ FinTech ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเสี่ยงในอัตราที่เหมาะสม”
พร้อมระบุว่า ในส่วนนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแล โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแล FinTech ที่มีการดำเนินงานในลักษณะของการกู้ยืมแบบรายต่อราย (P2P lending) ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะดูแลในส่วนของการระดมทุนหรือร่วมทุนจากมวลชน (Crowd Funding) ซึ่งมีขนาดระดมทุนที่ไม่ใหญ่เกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และดูแลได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย
ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องฟินเทค เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำ และช่วยให้ต้นทุนของระบบการเงินไทยลดลง ซึ่งทาง ธปท.พร้อมสนับสนุนผู้ให้บริการทางการเงินสามารถแข่งขันในเวทีภูมิภาค และเวทีโลกได้
สำหรับประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงทดลองฟินเทค หลังจากที่ในต่างประเทศประสบความสำเร็จกับฟินเทคมาแล้ว แต่ก็มีบางประเทศที่เกิดความเสียหาย ดังนั้น ธปท.ต้องดูแลฟินเทคไม่ให้เกิดปัญหาต่อระบบเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และต้องให้ประชาชนมีความเข้าใจ มีข้อมูลเพียงพอ และสามารถเลือกใช้บริการฟินเทคได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้บริโภคจะต้องได้รับค่าชดเชย และดูแล หากบริการทางการเงินเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่ใช่จากผู้บริโภค
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินให้พร้อมรองรับกับฟินเทค โดยเสนอกฎหมายระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่อุดช่องโหว่ของกฎหมายเดิม ซึ่งคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร็วๆ นี้ และมีการผลักดันกฎหมายการรู้จักตัวตนของลูกค้า เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลของเครดิตบูโร พิจารณาความเสี่ยงของลูกค้าได้ และแก้กฎหมายเพื่อผ่อนคลายสถาบันการเงิน สามารถลงทุนในลักษณะของการร่วมลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคได้ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
ขณะเดียวกัน ธปท.กำลังศึกษากฎระเบียบ และแนวทางการกำกับดูแลฟินเทคเหมือนที่ต่างประเทศดำเนินการ (Regulatory Sandbox) ว่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะจากการศึกษาเบื้องต้น กฎระเบียบดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่ากฎระเบียบของไทย
นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดตั้งชมรมฟินเทค แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนฟินเทคในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมฟินเทคในการเป็นเครื่องมือสนับสนุนตลาดการเงินของประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย 4 ข้อ ดังนี้
1.ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน 2.ให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน 3.ส่งเสริมให้การแข่งขันในระบบการเงินโปร่งใสเป็นประโยชน์แก่รายย่อย และเอสเอ็มอี และ 4.ส่งเสริมผู้ประกอบการทางการเงินให้แข่งขันได้ในระดับโลก