PwC มองแนวโน้ม FinTech ในไทยยังมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต โดยเฉพาะในตลาดเงิน และตลาดทุน ซึ่งมองว่าจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นไนช่วง 12-24 เดือนนี้ พร้อมแนะเร่งพัฒนาระบบความปลอดภัย
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยี FinTech ในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต โดยเฉพาะการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยบ้างแล้ว ได้แก่ ระบบ Alipay ระบบการชำระเงินแบบ Contactless อย่างเช่น การใช้บัตร Rabbit โดยเป็นการให้บริการแบบ P2P โดยไม่ผ่านตัวกลาง คือ ธนาคาร ซึ่งคาดว่าในอนาคตมีความนิยมใช้มากขึ้น
การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างมาก ตามจำนวนโทรศัพท์มือถือที่เติบโตเร็วกว่าจำนวนประชากร ซึ่งเป็นในลักษณะเดียวกับภูมิภาคทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ เล็งเห็นถึงโอกาสจากการเป็นตลาดที่ใหญ่ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี FinTech ออกมา เพื่อเจาะตลาดในประเทศไทย และในภูมิภาคมากขึ้นในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกมาก
หากเปรียบเทียบการนำเทคโนโลยี FinTech มาใช้ของประเทศไทยเทียบกับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกัน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยี FinTech เป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยในปัจจุบัน กระแส FinTech ในประเทศไทยมาแรงอย่างมาก และทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจ และตื่นตัวมี่จะนำเทคโนโลยี FinTech มาประยุกต์ใช้
แนวโน้มเทคโนโลยี FinTech ที่จะมีบทบาทในตลาดเงิน และตลาดทุนในประเทศไทย มองว่าจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นไนช่วง 12-24 เดือนนี้ ที่ทุกคนต่างศึกษา และเริ่มลงทุนในการนำเทคโนโลยี FinTech มาใช้ ซึ่งส่งผลให้เทคโนโลยี FinTech มีการเคลื่อนไหวอย่างมาก และเคลื่อนไหวตลอดเวลาในช่วงนี้ โดยมีธุรกิจต่างๆ ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยี FinTech ที่เป็น Start up อย่างเช่น การจัดตั้ง Venture Capital ของธุรกิจเพื่อมาสนับสนุน อีกทั้งการเข้าไปซื้อกิจการของผู้พัฒนาเทคโนโลยี FinTech ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยี FinTech ช่วยให้ธุรกิจมีการบริการลูกค้าได้ดีขึ้น และช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงในการให้บริการทางการเงิน และการลงทุนของผู้ประกอบการ
“จะเห็นว่าปัจจุบัน กระแส FinTech มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และมีคนให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เห็นแบงก์ในประเทศเกือบทุกแบงก์ให้ความสนใจใน FinTech อย่างมาก และมีการตั้ง Venture Capital เพื่อสนับสนุน FinTech ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Start up เพื่อเป็นการร่วมมือกัน เพราะมองว่า FinTech จะเริ่มเข้ามาเจาะตลาดการให้บริการของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการที่ดี และ FinTech ทำได้ดีกว่าที่เขาทำ เพราะ FinTech สามารถพัฒนาบริการที่ปรับตัวได้เร็ว เข้าใจง่าย และตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ”
ปัจจุบัน เทคโนโลยี FinTech ในประเทศไทยจะมีบทบาทอย่างมากมากในการให้บริการ 2 ประเภท ได้แก่ การบริการของธนาคาร (Banking) และการบริการชำระเงิน (Payment) จากทั้งหมด 4 ประเภท เพราะยังไม่เห็นการนำ FinTech มาใช้ในการให้บริการการลงทุน และการให้บริการด้านประกัน แต่ก็คาดว่าจะได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้ในอนาคต
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี FinTech มาใช้ในการให้บริการลงทุนจะต้องมีการพัฒนาเรื่องระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความน่าเชื่อ และการควบคุมธุรกรรมการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนที่จะต้องร่วมกันพัฒนา โดยหน้าที่ของผู้ที่จะพัฒนาเรื่องกฎระเบียบ และการกำกับควบคุมธุรกรรมการลงทุน (Regulator) จะต้องเป็นผู้พัฒนา Sandbox ที่นิยมใช้ในต่างประเทศสำหรับการดูแลควบคุม Transaction การทำธุรกรรมการลงทุนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ
ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ผู้ที่ทำระบบการกำกับควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำระบบการกำกับควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงิน