xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เร่งใช้งบไม่กระตุ้นศก. ต้องแก้ส่งออก-บริโภคภายใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่นส่งตัวแทนเข้าเยี่ยมคารวะ"ประยุทธ์" แสดงความยินดีที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ เข้าใจสถานการณ์ในไทย เชิญเยือนญี่ปุ่นเป็นทางการ พร้อมร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน- ทวาย ด้านนายกฯ ยืนยันจะบริหารประเทศอย่างเป็นธรรม เดินตามโรดแมป แก้ศก.-ดูแลความมั่นคง เชิญชวนท่องเที่ยวไทยช่วงหยุดยาวปีใหม่ เตรียมเยือนพม่า พบ "เต็ง เส่ง" หารือเต็มคณะ หวังลดอุปสรรคทางการค้า 9-10 ต.ค.นี้ "กรณ์" ชี้การเร่งเบิกจ่ายงบ ไม่สามารถกระตุ้นให้คึกคักได้ ต้องแก้ปัญหาส่งออกด้วย แนะเร่งหนุนเกษตรกร-ภาคอุตสาหกรรม ให้เห็นผลใน1 ปี ชี้นโยบายแจกเงินชาวนา ไม่ต่างกับเช็คช่วยชาติของรัฐบาลมาร์ค

เมื่อเวลา 08.25 น. วานนี้ (2 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางด้วยรถเบนซ์ กันกระสุน ทะเบียน ญค 1881 สีดำ เข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก่อนจะเข้าตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้หันมาพูดคุยกับ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และน.ส.เรณู ตังคจิวรางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และได้สั่งการให้เตรียมการประชุมจัดงานสโมสรสันนิบาต เนื่องในพระราชวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธ.ค. 57

** ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นพบนายกฯ

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายชิเกะคะสุ ซะโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้นำ นายมิโนะรุ คิอุชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแรก ที่เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือครั้งนี้ ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้นำสาล์น จากนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มาแสดงความยินดี ต่อการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย และเรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความขอบคุณ และจะพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ต่อไป

รอ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นายกฯ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ของประเทศไทย และเหตุผลความจำเป็นในการเข้ามาบริหารแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงบทบาทภารกิจของรัฐบาลไทย ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ที่มีความจำเป็นต้องดูแลทุกมิติ ทั้งเสถียรภาพ ความมั่นคงของประเทศชาติ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 ในการเดินหน้าประเทศไทย โดยรัฐมนตรีช่วยฯ ญี่ปุ่น ได้แสดงความเข้าใจในสถานการณ์เป็นอย่างดี และได้ติดตามการเดินหน้าของประเทศไทย จึงขอให้ไทยเดินตามโรดแมปที่กำหนดเอาไว้

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยให้ความดูแลนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในด้านต่างๆ และแสดงความสนใจเรื่องการเข้ามาลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องดาวเทียม และการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งญี่ปุ่นยังแสดงความพร้อม ที่จะเดินหน้าร่วมกับประเทศไทย เรื่องการลงทุนพื้นที่ทวายของประเทศเมียนมาร์ พร้อมเสนอให้มีการจัดประชุมไตรภาคี เพื่อพิจารณาความร่วมมือโครงการทวาย ที่เป็นรูปธรรม

รอ.นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับปากจะดูแลการลงทุนของญี่ปุ่นเป็นอย่างดี พร้อมเน้นย้ำการให้ความเท่าเทียมกันเรื่องผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่มาลงทุนในประเทศไทย และได้ฝากเรื่องการส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมายังไทย การส่งเสริมศักยภาพของคนไทยที่เข้าไปทำงานในภาคเอกชนของญี่ปุ่น ทั้งระดับผู้ปฎิบัติการ และระดับผู้บริหาร ให้ได้มีโอกาสศึกษาแนวทางการทำงานของญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของไทยต่อไป

**ชวนญี่ปุ่นเที่ยวไทยช่วงปีใหม่

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เชื้อเชิญชาวญี่ปุ่นพิจารณาการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ชายแดน 5 ด่าน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศญี่ปุ่นได้มีการค้า การลงทุน กับประเทศอื่นฯ พร้อมเชิญญี่ปุ่นร่วมลงทุนพื้นที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม 18 จังหวัดของไทยที่มีความพร้อม เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินไปยังท้องถิ่น ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้หยิบยกเรื่องมาตรการดูแลอาหารญี่ปุ่น ที่อยากให้ฝ่ายไทยผ่อนปรนมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ได้ทำการผ่อนปรนมาเป็นระยะ และกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ขณะที่นายกฯได้ขอญี่ปุ่นให้กรอบความร่วมมือเจเทปป้าเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้หารือกันถึงโครงการด้านรถไฟของไทย หากทางญี่ปุ่นมีข้อเสนอ หรือมีแนวทางให้ฝ่ายไทยพิจารณา ขอให้หารือกันในกรอบคณะทำงานระหว่างไทย-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต พร้อมกล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ที่มีมายาวนานว่าเมื่อใดก็ตามที่มีภาวะวิกฤตหรือภัยพิบัติจะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันตลอดมา และเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์สองประเทศทั้งความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์ ที่มีการเยี่ยมเยือน ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลลักษณะใดก็ตาม ไม่เคยมีการทอดทิ้งกัน และระหว่างคนไทยกับญี่ปุ่น ที่มีการเยี่ยมเยือนกัน จะยั่งยืนเช่นนี้ตลอดไป

สุดท้ายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากช่วงท่องเที่ยวไฮซีซั่น ที่ชาวไทยไปเที่ยวในญี่ปุ่นจำนวนมาก ขณะที่ฝ่ายไทยก็ขอเชิญฝ่ายญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวในไทยช่วงไฮซีซั่น และช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ 5 วัน ที่จะถึงนี้ โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้รับไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป

** นายกฯ เยือนพม่าหารือ"เต็งเส่ง"

ร.อ.นพ.ยงยุทธ ยังกล่าวถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. นี้ว่า ภารกิจในวันแรกของ นายกฯ ทันทีที่เดินทางไปถึง นายกฯ และคณะจะพบปะหารือกับ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยจะมีการหารือเต็มคณะ ในประเด็นความร่วมมือสารัตถะต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม

ทั้งนี้ในช่วงค่ำวันดังกล่าว รัฐบาลเมียนมาร์ จะจัดพิธีเลี้ยงรับรองนายกฯและคณะอย่างเป็นทางการด้วย สำหรับวันที่สองนายกฯและคณะ จะพบปะกับนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในประเทศเมียนมาร์ เพื่อหารือถึงการลดอุปสรรคด้านการค้าการลงทุน ที่รัฐบาลไทยจะได้หารือขอความร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยไปลงทุนที่ประเทศเมียนมาร์ ในหลายๆ ด้าน

**"กรณ์"แนะต้องแก้ปัญหาส่งออก

นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องจำเป็น และหากสำเร็จก็คงจะช่วยอยู่บ้าง แต่หัวใจของเศรษฐกิจไทยคือ การบริโภคภาคประชาชน บวกกับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งสองหมวด ยังน่าเป็นห่วงมาก กำลังซื้อ และการจับจ่ายของประชาชนเทียบกับปีที่แล้ว ยังติดลบอยู ส่วนการส่งออก แทบจะไม่มีการขยายตัวเลย การลงทุนโดยภาคเอกชน ก็ลดลง สืบเนื่องจากการใช้กำลังการผลิตยังตํ่ามาก ที่ประมาณร้อยละ 60 จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม ดังนั้นหากรัฐเบิกจ่ายได้จริง ก็คงส่งผลบ้าง แต่ไม่ถึงกับกระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักได้

" ส่วนตัวนั้นผมคิดว่า ในหนึ่งปีหากรัฐบาลทำได้ตามที่นำเสนอ ก็โอเคแล้ว แต่ที่อยากให้รัฐบาลทำมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น คือ การปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างที่มีผลต่ออนาคต เช่น ทางการเกษตรในเรื่องของการบริหารแหล่งนํ้า และวิธีการใช้นํ้า รวมถึงทำอย่างไรให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสม ตามสภาพของพื้นที่ เป็นต้น หรือในภาคอุตสาหกรรม นักลงทุนข้ามชาติ อยากใช้ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับอาเซียน จึงอยากเห็นการเชื่อมโยงทางการขนส่งที่ชัดเจนขึ้น หรือในภาคการศึกษา ที่เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งจะมีผลอย่างมากกับอนาคตลูกห ลาน และเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้น ในขั้นต่อไปรัฐบาลควรลำดับความสำคัญให้เห็นว่า ในหนึ่งปีข้างหน้านั้นรัฐจะปูพื้นในเรื่องใดบ้างที่ จะมีผลในระยะยาว ต่อการพัฒนาประเทศ เมื่อเราเห็นทิศทางสู่อนาคตที่ชัดเจน ต่อเมื่อเศรษฐกิจจะฝืดเคืองไปอีกระยะหนึ่ง ผมเชื่อว่าเราก็ทนได้"

** แจกเงินชาวนาไม่ต่างเช็คช่วยชาติ

นายกรณ์ ยังกล่าวว่า ทุกนโยบายรัฐบาลมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ส่วนนโยบายแจกเงินให้ชาวนา วัดโดยขนาดพื้นที่นา ปัญหาปัจจุบันคือราคาพืชผลตกตํ่า ชาวนาไม่มีพอจะกิน รัฐบาลจึงหาวิธีบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนา และวิธีที่รัฐบาลเลือกนั้นตรงไป ตรงมาที่สุด คือ แจกเงินสด ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 15 ไร่ หรือ 15,000 บาท ใช้เงิน 40,000 ล้านบาท หากคำนวนจากราคาข้าวปัจจุบัน ชาวนามีกำไรเพียงประมาณไร่ละ1,000 บาท ดังนั้น นโยบายนี้ มีผลในการเพิ่มกำไรต่อไร่ ให้ชาวนาถึงเท่าตัว หลักคิดจึงไม่ต่างกับ เช็คช่วยชาติในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 52 ที่ให้ 2,000 บาท กับผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 15,000 ต่อเดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และกระตุ้นการบริโภค และ คล้ายกองทุน SML ของรัฐบาลพลังประชาชน ที่มีเจตนา เป็นทุนให้หมู่บ้านไปทำโครงการที่เป็นประโยชน์

"ส่วนที่อ้างว่า แบบนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่ถ้าเป็นนักการเมืองทำเหมือนกัน ถือว่าใช่ ท่านคงเข้าใจแล้วว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ ประเทศไม่เสียหาย ก็ต้องทำ อย่ามาว่ากันเลย" นายกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น