xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเมินกู้จีน 100% ลงทุนรถไฟทางคู่ แบ่งกู้ในประเทศลดภาระดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยเมินกู้จีน 100% ลงทุนรถไฟไทย-จีน ยันดอกเบี้ย 2% ไม่ได้ต่ำสุด เร่งแบ่งเนื้องานลงทุนแยกกู้ในประเทศหรือตั้งกองทุนอินฟราฯ ส่วนเวนคืนเล็งงบประมาณ พร้อมขึ้นบัญชีผู้รับเหมาก่อนเปิดประมูลเลือกร่วมก่อสร้าง ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ขีดเส้น มี.ค.วางกรอบความร่วมมือแบบละเอียด เดินหน้าเลือก 1 ใน 3 เส้นทางภายในปลายปี 58

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเจรจาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟทางคู่ รางมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. ว่า ข้อตกลงเรื่องการลงทุนรูปแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) นั้นจะมีการหารือในข้อกำหนดและเงื่อนไขด้านการเงินในการประชุมคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ และ จ.หนองคาย ซึ่งข้อตกลงเบื้องต้นในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่ง เช่น การระดมทุนในประเทศไทย, เงินกู้เงื่อนไขพิเศษจากจีน, สินเชื่อผ่อนปรน และสินเชื่อเชิงพาณิชย์ โดยจะต้องมีการแยกแยะการลงทุนในแต่ละส่วนของโครงการออกมาว่าฝ่ายใดรับผิดชอบอะไร มูลค่าเท่าใด เพื่อเบิกค่าใช้จ่ายตามจริงในอนาคต ซึ่งความชัดเจนของมูลค่าโครงการจะต้องรอให้การสำรวจออกแบบแล้วเสร็จก่อนหรือประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ดังนั้น ไทยและจีนจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกัน (MOC : Memorandum of Cooperation) ในเดือนมีนาคมนี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถลงทุนได้ล่วงหน้าก่อน

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดิน และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องดำเนินการโยกย้ายหรือจัดหาที่อยู่ใหม่ให้สอดคล้องกับแผนก่อสร้าง รวมถึงรับผิดชอบงานด้านโครงสร้างพื้นฐานตลอดเส้นทาง ส่วนที่เป็นอุโมงค์และไหล่เขา การวางระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุม จีนจะเป็นหลัก เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญ ส่วนการเดินรถจะพัฒนาร่วมกัน ทั้งเรื่องสถานีรถไฟ ศูนย์รับ-ส่งสินค้า และศูนย์ซ่อมบำรุง โดยการเดินรถช่วงแรกจีนจะเป็นหลักและจะช่วยฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยเพื่อให้ไทยรับดำเนินการต่อเมื่อได้รับการรับรองจากจีน

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ทางองค์กรรถไฟจีน (China Railway Corporation : CRC) จะเป็นหลักในการดำเนินโครงการ ซึ่งล่าสุดทางจีนได้เสนอ 3 บริษัทเข้าดำเนินการแล้ว คือ ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CRCC), บริษัท ไชน่าเรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CREC) และบริษัทผู้ผลิตด้านอุปกรณ์หัวจักร การเดินรถและระบบซัปพลายต่างๆ โดยมีบริษัทลูกอีกประมาณ 30 บริษัท ซึ่งหลักทางจีนจะคัดเลือก CRC บวกกับบริษัทที่เหมาะสมโดยใช้วิธีเจรจา ส่วนฝ่ายไทยจะกำหนดบริษัทที่มีความเหมาะสมสำหรับงานด้านโครงสร้างฐานราก, ไม้หมอน หรือบางส่วนของงานราง บางส่วนของงานศูนย์ซ่อม เป็นต้น โดยจะคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าร่วมด้วยวิธีประมูล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน กล่าวว่า แนวทางการลงทุนนั้น ทางจีนมีความพร้อมที่จะให้เงินกู้ 100% โดยสินเชื่อลักษณะผ่อนปรนที่สุด (PBC) มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 2% ส่วนสินเชื่อเชิงพาณิชย์ ดอกเบี้ย 4% ระยะเวลา 20 ปี ปลอดหนี้ 5 ปีแรกนั้น ทางไทยเห็นว่ามีแหล่งเงินกู้จากประเทศอื่นที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า ดังนั้นจะไม่ใช้เงินกู้จากจีนทั้งหมด 100% แน่นอน โดยจะแบ่งแยกรายการลงทุนในแต่ละด้านและปริมาณงานออกมา เช่น เรื่องการซื้อระบบรถและเทคโนโลยีจะใช้เงินกู้จากจีนแน่นอน ส่วนการเวนคืนที่ดินใช้งบประมาณ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน งานที่จัดหาภายในประเทศจะใช้เงินกู้ในประเทศ โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมหรือออกพันธบัตร หรือระดมทุนโดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะมีการเจรจาในรายละเอียดต่อไป

“ข้อดีที่ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีนเสนอคือ ข้อเสนอเรื่องดอกเบี้ย อัตราพื้นฐาน และไม่จำเป็นต้องกู้เป็นสกุลเงินหยวน สามารถใช้กู้เป็นยูเอสดอลลาร์ หรือเงินบาทก็ได้ ดังนั้นจะทำให้ไทยสามารถคำนวณอัตราดอกเบี้ยร่วมกับอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเลือกรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุดได้” นายอาคมกล่าว

ขีดเส้น มี.ค.วางกรอบความร่วมมือ รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าเลือก 1 ใน 3 เส้นทาง

ส่วนความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรางนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ขณะนี้มี 3 เส้นทางที่ให้ทางญี่ปุ่นเลือกลงทุน ประกอบด้วย 1. เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (N-S) 2. แม่สอด-มุกดาหาร (E-W) ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่ทางญี่ปุ่นสนใจ ทั้งที่เป็นการปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่เดิม (ขนาดราง 1 เมตร) หรือการพัฒนาเส้นทางใหม่ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) และ 3. กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ซึ่งเป็นการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงโครงข่ายทางรางกับประเทศเพื่อนบ้านในเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้จากตะวันออกไปตะวันตกตามอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สามารถเชื่อมท่าเรือทวายของพม่าไปถึงกัมพูชาและเวียดนามได้

ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ นั้น ญี่ปุ่นรับปากที่จะเร่งรัดการผลิตตัวระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) โดยจะเริ่มสายการผลิตปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคมนี้เพื่อส่งมอบรถให้ทันก่อนสิ้นปี 2558 ตามที่นายกรัฐมนตรีไทยเสนอ เพื่อเปิดเดินรถในต้นปี 2559 เป็นของขวัญปีใหม่

ด้านนายอาคมกล่าวว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้จะมีการประชุมร่วมอีกครั้งเพื่อจัดทีมทำงานร่วมกันและกำหนดขอบเขตการศึกษา สำรวจเส้นทาง จัดทำความเป็นไปได้ กำหนดระยะเวลา โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558 ซึ่งทำให้ทราบชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะลงทุนเส้นทางใด ส่วนมูลค่าโครงการนั้น เบื้องต้นทางญี่ปุ่นยังไม่ระบุตัวเลขค่าก่อสร้างรถไฟต่อ กม. เนื่องจากมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง โดยการลงทุนของญี่ปุ่นนั้นจะพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับการจัดหาที่ดินและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และตั้งบริษัทขึ้นมาให้บริการเดินรถเพราะประเด็นสำคัญในการลงทุนคือความคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยขอให้นักลงทุนญี่ปุ่นทั้งอุตสาหกรรมซัปพลายเชน หรือซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุน ซึ่งไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น รวมถึงญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ระบบลอจิสติกส์การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำเพื่อไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง
กำลังโหลดความคิดเห็น