“ญี่ปุ่นกำลังจะกลับมา” ไม่ใช่แค่กระแสความชื่นชอบของคนไทยเท่านั้น แต่เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่ “คาดไม่ถึง” ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการยกเลิกวีซ่าให้กับคนไทย ไปจนถึงเรื่องการเมืองและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กลุ่มทุนซามูไรได้ฟื้นคืนชีพแล้ว โดยอาเซียนและประเทศไทยจะเป็นสนามประลองกำลังของสองมหาอำนาจ คือ ญี่ปุ่น และ จีน
เรื่องราวและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ได้รับความสนใจจากคนไทยมาตลอด เนื่องจากคนไทยใกล้ชิดกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก และพัฒนามาเป็นความชื่นชอบในประเทศญี่ปุ่น มีผลการสำรวจพบว่า คนไทยมากกว่าร้อยละ 70 มีทัศนคติในเชิงบวกต่อประเทศญี่ปุ่น และรู้สึกใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมากกว่าประเทศอื่นๆ
หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวให้กับคนไทย จำนวนคนไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในปี 2557 มีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นทั้งหมด 657,600 คน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 45.046 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังแดนอาทิตย์อุทัยสูงเป็นอันดับที่ 5 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ในทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในประเทศไทยมาตลอด และมีฐานการลงทุนในไทยมานานกว่า 50 ปี การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยสูงถึง 60 - 65% ของมูลค่าการลงทุนของต่างประเทศทั้งหมด และทิ้งห่างนักลงทุนอันดับ 2 คือ จีน ที่มีมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 7 ของการลงทุนของญี่ปุ่น
นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น ได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” เพื่อมุ่งพลิกฟื้นญี่ปุ่นให้พ้นจากความซบเซามากว่า 10 ปี ผลจากนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เพียงเวลาไม่ถึง 5 เดือน ที่นายอาเบะรับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่น ค่าเงินเยนลดลงจาก 39 บาท ต่อ 100 เยน เหลือเพียงไม่ถึง 30 บาท ต่อ 100 เยน ถือเป็นการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้กลุ่มทุนซามูไรฟื้นคืนชีพ และเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศอย่างมหาศาล โดยประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญ
คนไทยใช้สินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จนถึงขนมและอาหาร และทุกวันนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารใหญ่อันดับที่ 5 ของไทย ถือหุ้นใหญ่มากกว่าร้อยละ 72 โดยมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ กลุ่มทุนธนาคารรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลุ่มทุนญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าของธนาคารในประเทศไทย
ด้านธุรกิจประกันชีวิตกลุ่มทุนญี่ปุ่นก็รุกคืบเช่นกัน บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของไทย 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพประกันชีวิต, ไทยสมุทรประกันชีวิต และ ไทยประกันชีวิต มีผู้ถือหุ้นจากญี่ปุ่นในสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 15 - 25
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 8 - 10 ก.พ. นี้ โดยมีนัดหมายสำคัญ คือ การลงนามความร่วมมือพัฒนารถไฟทางภาคตะวันตก คือ เส้นทาง กทม.- กาญจนบุรี, กทม.- อรัญประเทศ และ กทม.- แหลมฉบัง นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังจะชักชวนญี่ปุ่นให้ร่วมลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศพม่าอีกด้วย
การเดินหน้าผูกสัมพันธ์กับญี่ปุ่นของรัฐบาล คสช. สะท้อนยุทธศาสตร์ “สมดุลทางอำนาจ” ทั้งๆ ก่อนหน้านี้รัฐบาลคสช. ถูกมองว่าโอนอ่อนเข้าหาประเทศจีน แม้กระทั่งโครงการรถไฟเชื่อมอาเซียนก็ถูกจับตาว่า รัฐบาลจีนจะได้สิทธิ์ในการพัฒนาโครงการอย่างแน่นอน
คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยปรารภว่า อาเซียนจะเป็นสนามประลองกำลังของสองมหาอำนาจ คือ ญี่ปุ่น และ จีน โดยในทางกลาโหมและเงินทุน แดนมังกรอาจจะได้เปรียบ แต่ในทางวัฒนธรรม หรือ Soft power จีนจะพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น เนื่องจากนโยบายต่างประเทศอันแข็งกร้าวของจีน ที่กดดันประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก ทั้งในเรื่องการแย่งชิงพื้นที่พิพาทในทะเล และการทุ่มเงินทุนมหาศาลเพื่อสร้างอิทธิพลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ข่าวสารจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะมุมมองที่แตกต่างจากสื่อตะวันตก จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้รับสารชาวไทย และเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจ