xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มะกัน-ญี่ปุ่น-จีน มหามิตรรุมกินโต๊ะรัฐบาลบิ๊กตู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเข้าพบนายชินโซะ อาเบะ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงเวลานี้ ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะหันหน้าไปหาประเทศมหามิตรชาติใด ก็ล้วนแต่เจอแรงกดดันรอบด้าน

สหรัฐอเมริกา มหามิตรอันดับหนึ่งนั้นถึงกับมาดุด่าว่ากล่าวถึงบ้าน ครั้งเดียวไม่พอ ยังมีดอกสองแถมซ้ำ

ครั้นบากหน้าไปหาญี่ปุ่น พันธมิตรที่แน่นแฟ้นของสหรัฐฯ ก็มีท่าทีไม่แตกต่างกัน

เมื่อหวังการปลอบประโลมจากจีนถึงขั้นเอาโครงการรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-แก่งคอย-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด เข้าแลก ก็กลายเป็นว่ามหาอำนาจแห่งตะวันออกกลับฉวยโอกาสปล่อยกู้รีดดอกเบี้ยมหาโหดพร้อมกับเงื่อนไขที่จีนมีแต่ได้กับได้ ทั้งที่เส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ของจีนตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมมุ่งลงใต้เข้าตะวันตกที่รัฐบาลสี จิ้น ผิง กำลังขายฝันไปทั่วโลก

กล่าวสำหรับสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่แค่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่มาเยือนไทยเมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมาเท่านั้น ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าการทำรัฐประหารยึดอำนาจนำมาซึ่งการลิดรอนสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยและลงโทษรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับการพูด และการชุมนุม ซึ่งเขามองว่าเป็นก้าวสำคัญไปสู่ขบวนการปฏิรูปอันแท้จริง

ล่าสุด อุปทูตสหรัฐฯ ยังได้ใช้เวทีเปิดการฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ 15 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 เรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คืนประชาธิปไตยโดยเร็วอีกด้วย เป็นดอกที่สองจากมหามิตรสหรัฐอเมริกาทีตามมาติดๆ

นายแพทริค เมอร์ฟี่ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นประธานร่วมในพิธีเปิด กล่าวถ้อยคำชนิดตีกลางแสกหน้ารัฐบาลทหารของไทยว่า “หวังว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว เพื่อให้สามารถฟื้นคืนความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราได้อย่างเต็มศักยภาพ”

ในการฝึกร่วมครั้งนี้ อุปทูตสหรัฐฯ ยังบอกด้วยว่า “.... เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับพวกเราทุกฝ่าย และส่งผลให้จำต้องมีการปรับเปลี่ยนการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ในยามที่ประเทศไทย กำลังดำเนินการกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง”

ขณะที่เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนางเจน ซากรี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ซึ่งแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตัน เมื่อคืนวันอังคารที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า การร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ซึ่งลดขนาดและปรับเรื่องการฝึกเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ในประเทศไทยซึ่งหมายถึงการรัฐประหาร

นางเจน ซากรี ยังตอกย้ำด้วยว่า เมื่อนายรัสเซลไปเยือนไทยและได้ขยายความชัดเจนว่าถ้าหากต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นเหมือนที่เคยเป็นรัฐบาลไทยมีเรื่องต้องทำหลายอย่าง หลายขั้นตอน และเรื่องก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่

ความหมายก็คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งนี้ เป็นการแสดงออกถึงการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และถ้อยคำจากปากของนายแดเนียล รัสเซล และนายแพทริค เมอร์ฟี่ รวมทั้งนางเจน ซากรี ก็แสดงถึงการกดดันไทยให้ไปในทางที่สหรัฐฯ ต้องการ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไม่มีคลื่นแทรกซ้อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเมอร์ฟี่ เข้าพบนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา นายเมอร์ฟี่ ก็แก้เกี้ยวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้แทรกแซงการเมืองไทยแต่อย่างใดเลย ในฐานะเพื่อนสหรัฐฯเพียงต้องการให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นความสำเร็จของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความสำเร็จของความท้าทายระดับโลก สหรัฐฯไม่ได้เลือกข้างแต่อย่างใดเพียงต้องการให้ชาวไทยมีสิทธิ์มีเสียง แสดงออกถึงความต้องการ มีส่วนร่วมในกระบวนการ และสุดท้ายหลักนิติธรรมได้รับการฟื้นฟู

จากท่าทีและถ้อยแถลงของตัวแทนฝ่ายการเมืองสหรัฐฯ ทำให้สตาร์แอนด์สไตรป์ หนังสือพิมพ์ยอดนิยมในวงการกลาโหมของสหรัฐฯ วิพากษ์ท่าทีรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไทยในเวลานี้ว่า วอชิงตันกำลังผลักไทยสู่อ้อมอกของจีน และตั้งคำถามด้วยว่า “หรือเรากำลังสูญเสียพันธมิตรอีกชาติหนึ่ง?”

สื่อกลาโหมชั้นนำของสหรัฐฯ ฉบับนี้ ยังรายงานด้วยว่า “....นอกเหนือจากความสำเร็จด้านการปฏิบัติของคอบร้าโกลด์แล้ว การคัดค้านอย่างแข็งขันของไทยต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของ แดเนียล รัสเซล ต่อคณะปกครองทหารระหว่างไปเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้วนั้น ไม่ควรจะถูกมองง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง”

ไทยก็เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่กำลังพิจารณาว่าจะสร้างความสมดุลด้านผลประโยชน์อย่างไรระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงปลอดภัยแตกต่างกันเสมอๆ ในภูมิภาคนี้ นายแอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านการทหารและความมั่นคงของนิตยสารเจนส์ ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า สิ่งที่ นายรัสเซล อาจจะมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเร็วๆ นี้นั้นสามารถผลักไทยให้เข้าใกล้ชิดกับจีนได้อย่างช้าๆ

“ในอีกหนึ่งทศวรรษ หรืออีก 15 ปีข้างหน้า เรื่องนี้อาจจะถูกมองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับแต่งความสัมพันธ์ (สหรัฐฯ-ไทย) ซึ่งจะส่งผลในทางเสื่อมถอยลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” นายเดวิส กล่าว

เมื่อสหรัฐฯ มีท่าทีกดดันไทยดังกล่าวข้างต้น พันธมิตรที่แน่นแฟ้นของสหรัฐฯอย่างญี่ปุ่น ก็แสดงออกต่อไทยไม่แตกต่างไปจากสหรัฐฯ เพียงแต่อาจดูนุ่มนวลกว่าตามสไตล์ตะวันออก

ในการหารือทวิภาคีระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นตามคำเชิญครั้งแรกของญี่ปุ่นหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจนั้น สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายอาเบะ กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวร่วมกันของผู้นำทั้งสองประเทศว่า“....พล.อ.ประยุทธ์ กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นคาดหวังอย่างยิ่งว่าจะเกิดการปรองดองกันในประเทศไทย และคืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยกำลังเร่งเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีการวางแผนจัดการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และสัญญาว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศไทย

เสียงเรียกร้องจากนายอาเบะ สัญญาณก็ชัดเจนไม่มีคลื่นแทรกเช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ ว่า ต้องการเห็นรัฐบาลทหารของไทยคืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนตามกระบวนการประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพี จากโตเกียว เผยแพร่การให้สัมภาษณ์พิเศษของพล.อ.ประยุทธ์ กับหนังสือพิมพ์นิเคอิ สื่อชั้นนำของญี่ปุ่นว่า ถ้าประเทศไทยมีปัญหาที่แก้ไม่ได้อีกทหารก็จะเข้าไปจัดการ ซึ่งสื่อตะวันตกตีความหมายว่า ทหารมีแนวโน้มจะยึดอำนาจอีกถ้าหากว่ารัฐบาลพลเรือนไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาอยากจะเห็น

ในการไปญี่ปุ่นคราวนี้นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ยังมีข้อตกลงในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนและลงนามเอกสารความร่วมมือ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ความร่วมมือในการพัฒนาระบบราง ระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย -ญี่ปุ่น และ 2.บันทึกความร่วมมือ (MOC) ในการส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนของไทยในญี่ปุ่นเพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มีความมั่นคงยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงร่วมของผู้นำสองชาติด้วยว่า การเดินทางมาญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพื่อย้ำความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการดำเนินบทบาทของทั้งสองประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน โดยโครงการระบบรางที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเจตจำนงระหว่างกันที่จะศึกษาและพัฒนา 3 เส้นทางเร่งด่วนในไทย จะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก ทั้งด้านบนและด้านล่าง และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาร์ ซึ่งจะเป็นโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ เชื่อมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและเอเชียใต้เข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงหารือในแนวคิดของไทยที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับเอกชนญี่ปุ่น โดยมีไทยเป็นฐานการผลิต จุดเชื่อมโยง และศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค” นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าววาจาคล้ายกับจุดประกายฝันต่อมหาอำนาจญี่ปุ่น ทว่า หากมองโลกในความเป็นจริง ก็จะเห็นว่า ฝันนี้ช่างยาวไกลและญี่ปุ่นไม่มีอารมณ์ร่วมด้วยมากนัก

ทำไมถึงว่าอย่างนั้น เหตุผลก็คือ โครงการระบบรางหรือรถไฟที่จะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกกับตะวันตก หรืออีสต์เวสต์คอร์ริดอร์ ทั้งเส้นบนและล่าง โดยเส้นบนคือทางรถไฟสายแม่สอด-พิษณุโลก-ชุมแพ-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร คู่ขนานกับทางรถยนต์ที่มีอยู่ในแผนเดิม และเส้นล่าง จาก ทวาย-กาญจนบุรี(หรือราชบุรี) -กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง นั้น ยังอยู่ในจินตนาการ ยังไม่มีผลการศึกษาในรายละเอียดแต่อย่างใด

ที่สำคัญ รถไฟสายดังกล่าวไม่ได้เป็นเส้นทางที่ญี่ปุ่นอยากจะลงทุนเมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจมากกว่า เช่นเดียวกับกับรถไฟทางคู่สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งมีขนาดรางรองรับรถไฟความเร็วสูง ที่มีศักยภาพมากกว่า มีผลศึกษารองรับแล้ว และญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจที่เข้ามาลงทุน แต่ทว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กลับไปเซ็นเอ็มโอยูผูกมัดกับจีน ยกให้จีนเป็นผู้ลงทุนไปแล้ว

ยังไม่นับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาร์นั้น ทั้งรัฐบาลไทยและพม่า เฝ้าเพียรจีบญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนตั้งแต่สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว และตั้งแต่กลุ่มอิตัลไทย ยังเป็นผู้ถือสัมปทานโครงการดังกล่าว แต่จนแล้วจนรอดจนบัดนี้ญี่ปุ่นก็ยังบอกแต่เพียงว่ามันน่าสนใจเท่านั้น

ทั้งโครงการระบบรางและโครงการทวาย จึงยังเป็นเพียงโครงการในฝันที่ไทยและพม่าอยากให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน แต่ยังไม่เห็นเค้าลางว่าเมื่อไหร่ฝันนั้นจะเป็นความจริงเสียที

ถ้าหากจะบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ กลับบ้านมือเปล่า ก็จะเป็นความจริงที่ดูโหดร้ายเกินไปสำหรับการไปเยือนญี่ปุ่น ประเทศมหามิตรที่เข้ามาลงทุนอันดับหนึ่งในไทยมาโดยตลอด และมีฐานการลงทุนในไทยมานานกว่า 50 ปี การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยสูงถึง 60 - 65% ของมูลค่าการลงทุนของต่างประเทศทั้งหมด และทิ้งห่างนักลงทุนอันดับ 2 คือ จีน ที่มีมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 7 ของการลงทุนของญี่ปุ่น

สำหรับจีน ซึ่งกำลังฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ทั้งในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจโลก ดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งทางใจให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่หันมาซบอกจีนอย่างออกหน้าออกตา จนทำให้สหรัฐฯและญี่ปุ่นคู่กัดของจีนเขม่น แต่ว่าจีนก็คือจีน ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนเอื้ออาทรต่อไทยความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนวางอยู่บนรากฐานของผลประโยชน์เป็นสำคัญเช่นกัน

ดังนั้น แม้ว่าไทยจะจิ้มก้องด้วยการเซ็นเอ็มโอยูให้จีนเป็นผู้เข้ามาลงทุนโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางกรุงเทพฯ - หนองคาย แต่จีนก็ได้ตั้งเงื่อนไขว่า รัฐบาลไทยต้องกู้เงินจากเอ็กซิมแบงก์ของจีนมาลงทุน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา2-4% เมื่อเทียบกับโครงการเงินกู้กึ่งช่วยเหลือด้านการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคจากญี่ปุ่นคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5% เท่านั้น และยังมีเงื่อนไขจีนจะต้องเป็นผู้ก่อสร้าง ผู้บริหาร และพัฒนาที่ดินสองข้างทาง จีนจึงอยู่ในฐานะผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโครงการนี้ตลอดอายุสัญญาเรียกว่ามีแต่ได้กับได้

นี่คือความช่วยเหลือแบบมิตรภาพของมหามิตรจีน เป็นความช่วยเหลือแบบว่าแม้แต่ลาวก็ยังไม่กล้ารับ เพราะไม่เช่นนั้นคงเห็นสปป.ลาว มีรถไฟความเร็วสูงที่จีนเสนอตัวเข้าไปลงทุนและบริหารจัดการให้นานแล้ว

ถึงนาทีนี้ อาจกล่าวได้ว่ามหามิตรของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนแต่ฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์จากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ทั้งสิ้น


นายแพทริค เมอร์ฟี่ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น