xs
xsm
sm
md
lg

“วรวรรณ” แจงอยากหารือกับ “สรรพากร” ก่อนชงยกเลิกภาษีกองทุน LTF-RMF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วรวรรณ” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ AIMC แจงผ่านเฟซบุ๊กอยากหารือกับ “สรรพากร” ก่อนชงยกเลิกภาษีกองทุน LTF-RMF ให้ คสช. ขณะที่ผู้บริหาร บลจ.หลายแห่งประสานเสียงการลดหย่อนภาษีของกองทุนทั้ง 2 ไม่ได้ส่งผลดีต่ออุตสหกรรมกองทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นเครื่องมือให้ประชาชนรู้จักการออมเงินในระยะยาวมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เตรียมทบทวนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในกองทุน LTF และ RMF ซึ่งเป็นหนึ่งใน 20 รายการที่กรมสรรพากรจะนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า อยากให้สรรพากรทบทวนในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากกองทุน LTF และ RMF เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนรู้จักออมเงินในระยะยาว โดยเฉพาะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนนั้นมีเงินใช้ในยามเกษียณ ขณะเดียวกันกองทุน LTF ถือเป็นอีกตัวช่วยหนุนการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์

โดยในประเด็นดังกล่าวนั้น นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนโดยวรวรรณ ธาราภูมิได้โพสต์ใน facebook แสดงความเห็นว่า มีคำถาม คำบ่นแรงๆ จากผู้ลงทุนรายเล็กๆ หลายคนต่อข่าวที่สรรพากรระบุว่าจะยกเครื่องการเสียภาษีใหม่ เช่นจะเพิ่มลดหย่อนจากปีละ 6 หมื่นบาท เป็น 1.2 แสนบาท ฯลฯ แต่จะไปพิจารณาสิทธิลดหย่อนภาษีในกองทุน RMF กับ LTF ซึ่งข่าวบางฉบับบอกว่าจะยกเลิก เพราะสรรพากรเห็นว่ามัน “ให้ประโยชน์คนรวยมากกว่า” บางฉบับบอกว่าจะพิจารณาความเหมาะสมก่อนจะนำเสนอผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

มีลูกค้าหลายคนบ่นว่าแทนที่จะทำแบบนี้ ทำไมสรรพากรไม่ไปขยายฐานภาษี ไม่ไปเก็บภาษีจากคนที่ต้องจ่ายแต่ไม่ยอมจ่าย ทำไมไม่จัดชั้นอัตราภาษีในช่วงคนรวยให้ถี่กว่านี้ เพราะคนมีรายได้ปีละ 5-6 ล้าน กับคนที่มีรายได้ปีละ 100 ล้าน 1,000 ล้าน มันต่างกันเยอะ ฯลฯ

โดยขอชี้แจงเหตุผลดังนี้ 1. เรื่องนี้มิได้เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองแต่ประการใดเลย

2. เรื่องนี้ตนได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการจากคุณสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร มา 3-4 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยคุณกรณ์ จาติกวณิช เป็นรองนายกฯ/รมว.คลัง โดยคุณสาธิตมีแนวคิดว่าสรรพากรใช้เวลากับแรงงานจำนวนมากไปกับการตรวจสอบเรื่องการลดหย่อนต่างๆ อันมีแต่จะมากขึ้น ใช้เวลาน้อยไปในการขยายฐานคนจ่ายภาษี จึงอยากยกเลิกการลดหย่อนทุกประเภท เหลือเป็นลดหย่อนเหมารวมตัวเลขเดียวที่มากขึ้น เช่นจาก 6 หมื่น เป็น 1.2 แสนบาทต่อปี

ในขณะนั้นตนให้แนวคิดในเบื้องต้นไปว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำไปใช้กับกองทุน RMF เพราะเป็นกองทุนเพื่อคนเกษียณ ซึ่งบ้านเรายังไม่มีภาคบังคับให้เอกชน แต่ราชการมีแล้วคือ กบข. สำหรับ LTF นั้น ปี 2559 จะเป็นปีสุดท้ายที่ลงทุนแล้วได้ลดหย่อนภาษีตามที่กำหนดไว้แต่เริ่มแรก ทั้งนี้ หากจะเปลี่ยนแปลงอะไรขอให้หารือกับอุตสาหกรรมเราก่อน เพื่อจะได้คิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน (คุณสาธิตไม่ได้พูดเรื่องคนรวย คนจน)

3. ในระยะที่ผ่านมาหลายปีนั้นมีการพูดจากคลังหรือสรรพากร (ตนจำไม่ได้) หลายครั้ง โดยคลังหรือสรรพากรจะให้ข่าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองว่า “LTF กับ RMF ให้ประโยชน์แก่คนรวยมากกว่าคนจน” (หมายเหตุ ในสมัยคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกฯ/รมว.คลัง ก็ไม่ได้ให้เปลี่ยนแปลงเรื่อง RMF กับ LTF แต่ประการใด)

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมกองทุนของเราไม่เคยได้รับข้อมูลจากสรรพากรเรื่องที่ว่ากองทุน LTF กับ RMF ให้ประโยชน์แก่คนรวยมากกว่าคนชั้นกลางและคนรายได้น้อย อุตสาหกรรมกองทุนเองก็ไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าผู้ลงทุนใครรวย ใครจน มีแต่จำนวนบัญชีผู้ลงทุนว่ามีกี่บัญชี กับขนาดของกองทุน LTF กับ RMF ดังนั้น อุตสาหกรรมจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่ามุมมองของสรรพากรถูกต้องหรือไม่

โดยข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ 23 พ.ค. 57 กองทุน RMF 125 กองทุน 144,987 ล้านบาท สัดส่วนต่อกองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรม 4.16% และกองทุน LTF 52 กองทุน 225,807 ล้านบาท สัดส่วนต่อกองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรม 6.48%

4. หากใครไปงานมหกรรมลงทุนต่างๆ จะพบว่าคนที่ไปในงานไปลงทุนใน LTF หรือ RMF นั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่เศรษฐี แต่เป็นคนธรรมดาๆ เป็นชนชั้นกลางที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นลูกคนกลางที่พ่อแม่ละเลย ในขณะที่ลูกคนโตผู้ร่ำรวยได้รับการอุดหนุนให้ได้เปรียบสังคมมาตลอด และลูกคนเล็กได้รับการโอบอุ้ม

วรวรรณ ให้ความเห็นต่อว่า ขอให้สรรพากรช่วยนำข้อมูลวิเคราะห์ดังว่านั้นมาพิจารณาร่วมกับอุตสาหกรรมก่อน เพราะมุมมองของสรรพากรกับภาคธุรกิจอาจไม่ตรงกัน เราไม่ทราบนิยามของคำว่า “คนรวย” ในแง่มุมของท่าน เราไม่รู้ว่ามีคนรวยกี่รายมาลงทุน เพราะตอนลงทุนเขาไม่ได้บอกว่าเขามีรายได้เท่าไหร่ เราไม่รู้ว่าจำนวนเงินลงทุนใน RMF กับ LTF ของคนรวยดังว่านั้นเป็นเท่าไหร่ และเรายังมีคำถามสำคัญที่จะเรียนถามท่านอีก 2-3 คำถาม

“สิ่งเหล่านี้ ถ้าได้พิจารณาร่วมกันก่อนจะเร่งร้อนทำอะไรไป ก็น่าจะได้คำตอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันได้ก่อนจะนำเสนอผู้มีอำนาจ เพราะท่านอาจจะวิเคราะห์ผิดหรือถูกก็ได้ เราไม่อยากให้สรรพากรเสนออะไรไปโดยลำพังโดยที่เราไม่ได้รับรู้ข้อมูล โดยที่เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นภาพที่ท่านเห็น และยังไม่มีโอกาสได้แสดงมุมมองของเราต่อเรื่องนี้ เราไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว หากข้อมูลของท่านถูกต้อง หากการวิเคราะห์ของท่านไม่ผิดเพี้ยน อุตสาหกรรมยินดีให้ความร่วมมือบนพื้นฐานประโยชน์ของบ้านเมืองเสมอ”วรวรรณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น