xs
xsm
sm
md
lg

“BAY” ชี้ บจ.ญี่ปุ่นสนใจลงทุนในไทย หวังแสงสว่างปลายอุโมงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคาเนทสุกุ มิเกะ รองประธานกรรมการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY
รองประธานกรรมการธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นเลือกลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม AEC เหตุเป็นศูนย์กลางการลงทุนมีความพร้อมทั้งการเชื่อมโยงทั้งอาเซียน และอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง มีการจ้างงานสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม แนะไทยควรแก้ปัญหากำแพงภาษีสินค้านำเข้า และสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างยั่งยืน

นายคาเนทสุกุ มิเกะ รองประธานกรรมการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในด้านลงทุน และเศรษฐกิจแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก โดยการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยนั้นสูงถึง 60-65% ของมูลค่าการลงทุนของต่างประเทศในประเทศไทย เทียบกับอันดับ 2 คือ จีน ที่มีมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 7 ของการลงทุนของญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งเงินลงทุนจากบริษัทของญี่ปุ่นมาในไทยอาจจะสูงมากกว่านั้น เพราะญี่ปุ่นมักจะไปตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคที่สิงคโปร์ เนื่องจากเงินลงทุนจากสำนักงานใหญ่ภูมิภาคก็จะนับเป็นเงินลงทุนจากประเทศที่ไปตั้งอยู่

“การลงทุนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะเข้าไปลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องกล รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะรถยนต์ ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนอย่างขนานใหญ่ ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์มีสัดส่วนสูงมากในการส่งออกทั้งหมดของไทย และมีมูลค่าถึง 6% ถึงมูลค่า GDP ของไทย 100% ของการส่งออกรถยนต์ของไทยมาจากบริษัทของญี่ปุ่น โดยคาดว่าอีกไม่นานรถยนต์จะกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไท“”


ส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนนั้นสูงถึง 1 ใน 3 ของภูมิภาคนี้ และอาเซียนก็เป็นเป้าหมายที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนต่อไปโดยเฉพาะประเทศไทย เพราะเหตุประเทศไทยดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นมากที่สุดในอาเซียน จากการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นโดยเจโทร ผู้บริหารของญี่ปุ่นมองว่า ประเทศไทยมีตลาดขนาดใหญ่ และมีศักยภาพในการขยายตัว และมีกลุ่มซัปพลายเออร์ และผู้ซื้อขนาดใหญ่อยู่ มีสภาพการอยู่อาศัยเหมาะสมต่อผู้บริหารชาวญี่ปุ่น การเข้ามาลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นทำให้ในกรุงเทพฯ มีชุมชนชาวญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในขณะเดียวกัน เจโทรก็ยังคงความเสี่ยงจะเลือกลงทุนในประเทศอาเซียน จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในทุกเกือบปัจจัย คือ ความเสี่ยงด้านการเมือง การเพิ่มขึ้นของค่าแรง และความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ หรือปัญหาด้านมลพิษในสิ่งแวดล้อม

ขณะที่จำนวนประชากรในวัยทำงานที่ลดน้อยลงของประเทศไทยทำให้เกิดปัญหาในตลาดแรงงาน ส่งผลให้อัตราค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันนั้น ค่าแรงในกรุงเทพฯ สูงที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยควรจะแก้ไขโดยเร็ว นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นประเด็นที่บริษัทญี่ปุ่นเป็นห่วงมากที่สุด จากการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นโดยเจโทร แม้ว่าบริษัทกว่า 68% จะบอกว่าไม่กระทบต่อการลงทุนในประเทศไทยต่อปัญหาความเสี่ยงเรื่องการเมือง แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมปัญหานี้จะทำให้การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้น หรือลดลงโดยเฉลี่ย 50% และไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนอีก 50% มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เปรียบอย่างมากในเรื่องภูมิศาสตร์เนื่องจากตั้งอยู่กลางภูมิภาค ทั้งอาเซียน และอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หากว่ามีโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมโยงกันตลอดทั่วทั้งภูมิภาค ประเทศไทยจะได้เปรียบอย่างมาก เพราะจะลดต้นทุนการด้านการขนส่ง และลอจิสติกส์ลงไปได้ ซึ่งสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นต้องการจะเห็นในประเทศไทยก็คือ ความมั่นคงในทางการเมือง การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และรอบๆ นอกจากนี้ ไทยควรจะแก้ไขปัญหาเรื่องระบบภาษีต่างๆ ในระหว่างประเทศอาเซียนอาจจะไม่มีปัญหาเพราะต้องลดลงใกล้ศูนย์เปอร์เซนต์อยู่แล้ว แต่กับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะปัญหากำแพงภาษีสินค้านำเข้าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ก็ยังที่มีกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษีนานาอีกด้วย หากว่าสามารถแก้ไขได้ สถานะของไทยก็จะแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก

“ประเทศไทยมีบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ถึง 2,348 บริษัท และมีการจ้างงานถึง 525,000 คน เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ที่มีบริษัทอยู่เพียง 820 บริษัท และมีการจ้างงานทั้งสิ้นเฉลี่ย 97,000 คน ทำให้เห็นว่าสถานะของไทยยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ แต่หากว่าไม่แก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานและความเสี่ยงอื่นๆ ก็อาจจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง และสูญเสียสถานะนั้นไป อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะได้ประโยชน์จาก AEC อย่างมากเพราะครึ่งหนึ่งของการผลิตรถยนต์ในไทยนั้นส่งออกไปประเทศข้างเคียง”

อย่างไรก็ตาม การรักษาสถานะของประเทศไทยในฐานะเป้าหมายการลงทุนอันดับ 1 ของญี่ปุ่นในอาเซียนก็จำเป็นจะต้องพยายามให้หนักมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ให้หมดไป นอกจากนี้ ไทยควรจะแก้ไขเรื่องปัญหาในระบบการศึกษายกระดับให้ดีกว่าเดิม เพื่อที่จะสามารถเปิดรับการลงทุนในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น อย่างเช่น เป็นศูนย์ของ RandD เป็นต้น นอกจากนี้ มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากมีความต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลาง และเล็ก ที่อยากจะมองหาพันธมิตรในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นโอกาสสำหรับบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กของไทยที่จะได้ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่น และได้พัฒนาการผลิตและขยายตลาดของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น