การนำเสนอข่าวการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของสื่อยุคปัจจุบันลงลึกหุ้นรายตัวมากขึ้น และลึกถึงขั้นแนะนำซื้อหุ้นรายตัว หรือเชียร์เล่นหุ้นรายตัวกันเลย ทำให้เกิดคำถามว่า บทบาทของสื่อสามารถก้าวข้ามไปเป็นผู้ชี้นำหุ้นรายตัวได้หรือไม่
บทบัญญัติจรรยาบรรณสื่อ ไม่มีห้ามการแนะนำการลงทุนหุ้นรายตัว แต่ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ระบุถึงความผิดในการชี้นำหุ้น
และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีข้อกำหนดการเป็นผู้ให้คำแนะนำการลงทุน หรือการวิเคราะห์การลงทุนอยู่
ถ้าไม่มีใบอนุญาตการเป็นผู้ให้คำแนะนำการลงทุนจาก ก.ล.ต. จะเที่ยวมาชี้นำหุ้นรายตัวไม่ได้เพราะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย และสื่อก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น
เพียงแต่การกำกับดูแลการชี้นำหุ้นของ ก.ล.ต.ที่ผ่านมาไม่ได้มีความเข้มงวดการบังคับใช่กฎหมายการชี้นำหุ้นเท่านั้น ทำให้เกิดการล้ำเส้น และนำไปสู่การแนะนำหุ้นรายตัวกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทีวี และวิทยุ
กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ลิดรอนสิทธิการนำเสนอข่าวการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะการนำเสนอภาวะตลาดหุ้นในภาพรวม จะคาดการณ์ว่าดัชนีพุ่งทะยานไปอีกกี่ร้อยกี่พันจุดก็ไม่มีปัญหา จะประเมินว่าหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมไหนอนาคตสดใสเพียงไรก็ไม่มีใครว่า
แต่จะเที่ยวไปบอกว่า หุ้นตัวนั้นตัวนี้น่าซื้อ ราคาจะวิ่งพรวดไปถึงตรงโน้นตรงนี้ เชียร์ให้นักลงทุนแห่เข้ามาซื้อไม่ได้เพราะเข้าข่ายการชี้นำ
และถ้าการชี้นำมีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ว่าจะ “รับงาน” ให้มาเชียร์หุ้น ได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรง หรือทางอ้อมจากการชี้นำ ไม่ว่าผลประโยชน์ในรูปแบบโฆษณาจากบริษัทจดทะเบียน หรือเข้าไปช้อนซื้อหุ้นเก็บไว้ล่วงหน้า ก่อนชี้นำให้นักลงทุนทั่วไปแห่ซื้อตามจะต้องถูกดำเนินคดี
ในอดีตมีสื่อชื่อดังที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ในข่ายถูกดำเนินคดีแล้ว กรณีการกล่าวโทษ 4 หุ้นปั่น ประกอบด้วย หุ้นบริษัท กฤษดามหานคร หุ้นบริษัท รัตนการเคหะ หุ้นบริษัทเงินทุนเฟิร์สซิตี้ และหุ้นธนาคารนครหลวงไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536
ผู้ที่ถูกกล่าวโทษ 4 หุ้นปั่นมีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน มีกลุ่มเสี่ยสอง หรือนายสอง วัชรศรีโรจน์ กลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์ กลุ่มกาญจนพาสน์ และมีอีก 123 รายชื่อ ที่อยู่ในข่ายถูกกล่าวโทษ โดยมีสื่อชื่อดังพร้อมเครือญาติ และบริวารรวมอยู่ด้วย
แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด ก.ล.ต. ยุคนายเอกกมล คีรีวัฒน์ เป็นเลขาธิการฯ ไม่ดำเนินคดีต่อผู้อยู่ในข่ายปั่นหุ้นบัญชีสองอีก 123 คน และสื่อที่หวิดถูกดำเนินคดีกรณี 4 หุ้นปั่น ปัจจุบันก็ยังวนเวียนอยู่ในตลาดหุ้น
พฤติกรรมการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายใน การปล่อยข่าวลือ การชี้นำหุ้น หรือการโหมกระพือข่าวเพื่อกระตุ้นราคาหุ้นยังมีอยู่ และมักจะทำเป็นขบวนการ ซึ่งมีมีตัวอย่างมาแล้วในอดีตโดยร่วมมือกันทั้งนักลงทุนรายใหญ่ บริษัทโบรกเกอร์ เจ้าของบริษัทจดทะเบียน และสื่อ
ปัจจุบัน ไม่มีใครบอกได้ว่าการปั่นหุ้นอย่างเป็นขบวนการเต็มรูปแบบหมดไปหรือไม่
นักวิเคราะห์ และผู้ให้คำแนะนำการลงทุนสังกัดบริษัทโบรกเกอร์หลายคนแล้วที่ถูกลงโทษ ถูกพักใบอนุญาตเพราะชี้นำราคาหุ้น และอาศัยสื่อเป็นช่องทางโฆษณาชวนเชื่อ ชักจูงให้นักลงทุนแห่ซื้อหุ้นเพื่อปั่นราคา
ส่วนคนที่สวมคราบความเป็นสื่อ เชียร์หุ้นรายตัวเป็นต่อยหอยรายวันจะมีผลประโยชน์แอบแฝงทางใดทางหนึ่งหรือไม่ ก.ล.ต.ยังไม่เคยลงไปตรวจสอบ
แต่การชี้นำเป็นพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย เป็นแนวทางการล่อแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ และทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เหมือนกับกฎหมายอื่น โดยมีผลบังคับใช้กับทุกคน รวมทั้งสื่อทุกแขนง
อย่าถือว่าโกนหัวโกนคิ้ว ห่มผ้าเหลิองแล้วจะอยู่เหนือกฎหมายได้
อย่าคิดว่า จับปากกา ถือไมค์ ใส่สูทหน้าจอทีวี สวมคราบความเป็นสื่อแล้วจะมีอภิสิทธิ์เชียร์หุ้นรายตัวเหยงๆ เป็นรายวันโดยไม่ผิดกฎหมาย
ก.ล.ต.ต้องเข็มงวดต่อการให้คำแนะนำหุ้นรายตัวหน่อยแล้ว และไม่ใช่การเข้ามาจัดระเบียบแทรกแซงสื่อ แต่เป็นการบังคับใช้เพื่อให้กฎหมาย และกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.มีความศักดิ์สิทธิ์
เพราะถ้าปล่อยให้ชี้นำหุ้นกันได้เสรี อีกหน่อยจะมีใครต่อใครสวมคราบความเป็นสื่อออกมาเชียร์หุ้นกันโจ๋งครึ่ม ปล่อยข่าวปั่นหุ้นกันสนุกสนาน
ทุกวันนี้มีกลุ่มคนสวมคราบสื่อเข้ามาหากินในตลาดหุ้นกันมากเกินพอแล้ว
ทุกวันนี้ การให้คำแนะนำหุ้นรายตัว ก.ล.ต.ของสื่อหลายแขนงแทบไม่ต่างกับการ “ใบ้หวย” หลอกกินชาวบ้านอยู่แล้ว
สุนันท์ ศรีจันทรา