xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิบาลในตลาดทุน อย่าต้องบังคับให้ทำดี / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ข่าวดีสำหรับผู้อยากเห็นกฎกติกาการกำกับดูแลตลาดทุนมีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มขึ้น ขณะที่น่าจะเป็นข่าวร้ายของนักฉวยโอกาสหรือคนชอบหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมในวงการตลาดหุ้นไทย

เพราะจะมีการพลิกโฉมวิธีการดำเนินคดีและลงโทษที่เข้มข้นขึ้นกรณีฉ้อฉล ปั่นหุ้น สร้างข่าวเท็จ ทุจริตและใช้ข้อมูลภายในไปเอาเปรียบการซื้อขายหุ้น
 รพี สุจริตกุล
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคมศกนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วจะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในขั้นสุดท้ายก่อนประกาศเป็นกม. ถ้าไม่มีอะไรขัดข้องภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ก.ล.ต.ก็จะมีเครื่องมือที่คล่องตัวและเฉียบคมมากขึ้นในการจัดการกับคนขาดคุณธรรมในตลาดทุนไทย

หลักการสำคัญของกฎหมายหลักทรัพย์ฯฉบับใหม่ที่มุ่งทำให้เกิดความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาลซึ่งที่จะมีเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น

(1) กรรมการ ผู้บริหารและเครือญาติ ต้องเปิดเผยรายละเอียดการถือหุ้น
(2) ทุกวันนี้ก.ล.ต.ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ได้ใช้มาตรการลงโทษทางอาญาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับหรือการกล่าวโทษและดำเนินคดีสู่ศาลก็ตาม แต่คดีใหม่จากนี้ไปจะเพิ่มทางเลือกเป็นการลงโทษทางแพ่งหรืออาจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาก็ได้

ถ้าดำเนินการทางแพ่งก็คล้ายวิธีการเดิมแต่เป็นการปรับทางแพ่ง (กติกาเดิม ถ้าผู้ทำผิดยอมให้ปรับเรื่องก็จบ แต่จะมีการแก้ประกาศของก.ล.ต.ให้ลงดาบ 2หลุดจากตำแหน่งด้วย และยังบันทึกเป็นคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นกรรมการและผู้บริหารเป็นเวลา 3 ปี)

รพี สุจริตกุล เลขาธิการก.ล.ต. ชี้แจงเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการก.ล.ต.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงบทลงโทษในกรณีทีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับเพิ่มจากปัจจุบันหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกก็แค่ถูกปรับ แต่จะไม่ถูกห้ามหรือถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารจดทะเบียนนั้นๆ

การทบทวนบทลงโทษจากเกณฑ์เดิมที่ใช้มา 10 ปีแล้ว ก็อาจจะปรับปรุงให้มีลักษณะใกล้เคียงหรือเช่นเดียวกับบทลงโทษการกระทำผิดของผู้บริหารสถาบันการเงิน คือนอกจากจะถูกปรับแล้ว จะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารด้วย
สมชาย  พงษ์พัฒนาศิลป์
สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานก.ล.ต. อธิบายว่าข้อดีทางกฎหมายหลักทรัพย์ฉบับใหม่ว่า

“กฎหมายใหม่นี้ถ้าประกาศใช้จะช่วยให้ลดขั้นตอนการดำเนินงานลงได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ก.ล.ต.สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีเป็นการลงโทษทางอาญาเพียงอย่างเดียว และมีกระบวนการกลั่นกรองข้อมูลจากหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดความล่าช้า”

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.จะมีการทบทวนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีอาญาของหน่วยงานในชั้นก่อนฟ้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนในขั้นรวบรวมพยานหลักฐาน โดยแบ่งหน้าที่ให้ก.ล.ต.ทำเฉพาะมาตรการลงโทษทางแพ่ง และ DSI จะเป็นผู้ดำเนินคดีทางอาญา และให้ก.ล.ต.ร่วมสอบสวนด้วย และหากมีกรณีที่มีผลเสียหายร้ายแรงทั้งในส่วนของคดีแพ่งและอาญา ก็จะมีปปง.เข้ามาร่วมในการพิจารณาลงโทษอีกด้วย

นี่เป็นการยืนยันว่ากรณีทำผิดที่ไม่เป็นธรรมต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ถือเป็นความผิดมูลฐานด้านการ “ฟอกเงิน” ตามหลักการสากลจึงต้องมีมาตรการสกัดกั้น

ส่วนการดำเนินคดีทางแพ่งจะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการให้สามารถรู้ผลการตัดสินและลงโทษผู้กระทำผิดได้เร็วขึ้น เพราะการดำเนินคดีทางอาญาในระบบเดิมกว่าจะสิ้นสุดการตัดสินใช้เวลาเกือบ 10 ปี เช่น คดีลอยเนท เกิดเหตุปี 2549 ศาลกีฎาตัดสินปี 2558 กว่าคนทำผิดจะติดคุกก็ใช้เวลาถึง 9 ปี หรือคดีผู้บริหารซื้อขายหุ้นซีมิโก้ ก็ใช้เวลาถึง 10 ปี ปรากฏว่าตัวการตายไปก่อนถูกลงโทษ ระยะเวลาดำเนินคดียาวนานเช่นนี้ สังคมคงลืมเรื่องราวไปแล้ว

ข้อคิด...

น่าแปลกนะครับ ยุคนี้ขณะที่กระแสโลกได้ข้อสรุปว่าธุรกิจที่ดีจำเป็นต้องมีจุดยืนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และมีหลักธรรมาภิบาล จะเป็นทางออกของวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจก็ยังมีกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของหลายกิจการ ทั้งๆ ที่เป็นบริษัทมหาชนกลับมีพฤติกรรมหาผลประโยชน์เข้าตัวหรือกิจการ

จนดูราวกับลืมไปว่า “นี่ปีพ.ศ.อะไรแล้ว!” ทั้งๆ ที่สังคมกระหึ่มด้วยกระแสคาดหวังและกระตุ้นเตือนให้ผู้นำองค์กรดำเนินการด้วยหลัก “ธรรมาภิบาล”

หลายปีที่ผ่านมา การตื่นตัวรักษาสิทธิและความเป็นธรรม เอื้ออำนวยด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว และหลากหลายรูปแบบสื่อบุคคลในการรับรู้ เรียนรู้ และเห็นกรณีเปรียบเทียบในยุคสังคมข่าวสาร
ขณะที่หน่วยกำกับดูแลก็ต้องมีบทบาทสนองตอบปฏิกิริยาของสังคม เห็นได้ว่าระยะใกล้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ สังคมได้รับรู้การตีแผ่พฤติกรรมการกระทำความผิดของกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถูกก.ล.ต.สั่งปรับ หรือกล่าวโทษมากรายขึ้น และมีกรณีเกิดขึ้นต่อเนื่อง

นี่จะเป็นเพราะผู้ทำผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงมีมากขึ้น หรือผู้บริหารยุคนี้เอาจริงและเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอาจกล่าวเช่นนั้นได้

ด้านบริษัทจดทะเบียนก็ยังแสดงออกผ่านการที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เผยผลสำรวจความเห็นกรรมการไทยประจำปี 2559 จำนวน 416 คน ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65) เห็นว่ากรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำการที่ไม่เป็นธรรม หรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหุ้น เช่น การใช้ข้อมูลภายใน การสร้างราคาหุ้น ผู้กระทำผิดควรได้รับทั้งโทษปรับและจำคุก รวมถึงการตัดสิทธิเป็นกรรมการด้วย บทลงโทษต้องหนักพอที่จะทำให้ผู้จะกระทำเกิดความเกรงกลัวที่จะทำความผิด

สรุปความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ของ IOD ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยย้ำตอนท้ายว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือการมีหลักธรรมาภิบาลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนความก้าวหน้าและการเติบโตของธุรกิจและระบบเศรษฐกิจที่เสถียรภาพยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งมีหน้าที่กำหนดทิศทางขององค์กรและกำกับดูแลกิจการที่ดีจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ ถูกต้องและเป็นธรรม มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นกรรมการที่ดีตามหลัก Fiduciary Duty หรือหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของทรัพย์สินด้วยความซื่อสัตย์และรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม”

ความตระหนักรู้ในการมีธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสั่งสมให้เกิดเป็นค่านิยมเป็นดีเอ็นเอของผู้ใฝ่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่สร้างผลประกอบการที่ดีควบคู่กับการสร้างผลดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยความจริงใจ ความนิยมเชื่อถือและผลดีทางธุรกิจและการลงทุนก็จะเกิดอย่างยั่งยืน


suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น