xs
xsm
sm
md
lg

ลงดาบซ้ำ 7 บจ.กระทำผิดถูก ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ โดนแบน 2 ปี เข้าร่วมประเมิน CGR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


IOD ประกาศแบน 7 บจ.ที่ผู้บริหารถูก ก.ล.ต.ปรับฯ จะถูกปรับออกจากการประเมิน CGR เป็นเวลา 2 ปี พร้อมเดินหน้าจี้ให้เพิ่มบทลงโทษ บจ. หรือผู้บริหารที่กระทำผิดหลักธรรมาภิบาล

คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) แถลงการณ์เรื่องธรรมาภิบาลของกรรมการบริษัทจดทะเบียน โดยจะไม่จัดทำการประเมินบริษัทตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR) เป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่บริษัท หรือกรรมการของบริษัทถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปรียบเทียบปรับ หรือถูกกล่าวโทษ 1 ปีก่อนการประเมินสิ้นสุด ซึ่งเบื้องต้น มีจำนวน 7 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในขณะนี้

แถลงการณ์ ระบุว่า IOD ซึ่งอยู่ในฐานะสถาบันมีความเห็นว่า การกระทำผิดของกรรมการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนนั้นถือเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งคณะกรรมการบริษัทไม่ควรเพิกเฉย เพราะตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี กรรมการต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบคอบระมัดระวังต่อเหตุที่จะสร้างความเสียหายต่อบริษัท หรือต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของบริษัท

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมการ IOD กล่าวว่า สำหรับ บจ.จำนวน 7 รายดังกล่าวที่กรรมการบริษัทถูก ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับจะถูกตัดออกจากการประเมิน 2 ปี และหลังจากนั้นหากบริษัท หรือกรรมการไม่ได้ถูก ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ หรือถูกกล่าวโทษภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนการประเมินสิ้นสุดก็จะสามารถเข้ารับการประเมิน CGR ได้ตามปกติ

สำหรับเหตุผลที่ IOD ดำเนินการเข่นนี้เพื่อเป็นการป้อ้งกันไม่ให้ บจ. หรือกรรมการของ บจ.รายใดก็ตามกระทำผิดหลักธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทุกบริษัท และกรรมการทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับ และดูแลกำหนดไว้

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา จากกรณีที่กรรมการ และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถูกกล่าวโทษในความผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์จาก ก.ล.ต.มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อคณะกรรมการบริษัททราบเรื่องแล้ว ปรากฏว่า ก็ยังไม่ให้ความสำคัญที่จะตรวจสอบ และดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อการกระทำผิดอย่างจริงจัง ทำให้คณะกรรมการ IOD มีความเป็นห่วงเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งในตัวบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการกำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนให้เข้มงวดมากขึ้น

ดังนั้น IOD เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนควรสร้างระบบการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ หลักธรรมาภิบาล จริยธรรม และการทำหน้าที่แก่กรรมการ และผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิด และโทษที่ได้รับตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลกัทรัพย์ในอดีตของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเสนอชื่อผู้ที่บริษัทเลือกเข้ามาเป็นผู้บริหาร หรือคณะกรรมการบริษัท

ส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลควรมีการกำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในความผิดร้ายแรงขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนอีกต่อไป และควรแก้ไขวิธีการพิจารณาลงโทษ และบทลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของกรรมการในบริษัทจดทะเบียนให้มีความเข้มข้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว ซึ่งคณะกรรมาร IOD อยากให้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นออกมาได้อย่างเร็วที่สุด

นอกจากนี้ IOD จะสนับสนุนการนำประวัติการประทำผิดของกรรมการ หรือผู้บริหารตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ มาประกอบการพิจารณารับ หรือต่ออายุการเป็นสมาชิกของสถาบัน IOD ทั้งในระดับบุคคล และนิติบุคคล ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการ IOD จะนำเสนอให้ที่ประชุมสมาชิก IOD พิจารณาให้ความเห็นชอบในที่ประชุมใหญ่วันที่ 30 พ.ค.59

“กรณีดังกล่าว IOD เชื่อว่าการกำกับดูแลกิจการที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะสนับสนุนความก้าวหน้า และการเติบโตของธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจเป็นภาระที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของประเทศมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่ถูกต้องตามหลักกติกา สร้างความเชื่อมั่น และสร้างความเข็งแกร่งแก่บริษัทจดทะเบียน และเศรษฐกิจไทยอีกด้วย” นายเกริกไกร กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น