ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา
คนในแวดวงตลาดหุ้นเฝ้าจับตาว่า ผู้บริหารกลุ่มซีพี จะแก้ปัญหาอย่างไรกับกระแสสังคมที่กำลังกดดันให้แก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลขององค์กรในเครือข่าย
การยินยอมจ่ายค่าปรับตามความผิด ฐานใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์การจากซื้อขายหุ้น(อินไซเดอร์เทรดดิ้ง)ของ 4 กรรมการ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ7-11 จำนวนเงินรวมประมาณ 33 ล้านบาท อาจเป็นจุดสิ้นสุดของขั้นตอนกฎหมาย แต่ไม่ใช่ข้อยุติของกระบวนการทางสังคม
เพราะพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบ ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น ผิดหลักธรรมาภิบาลที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพยายามรณรงค์อยู่ด้วย
4 กรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ ละเมิดหลักธรรมาภิบาล และควรพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ไม่ว่าด้วยการลาออกหรือถูกปลด แต่กรรมการซีพีออลล์ทั้ง 4 คนกลับได้รับการปกป้อง โดยคณะกรรมการบริษัทเพียงแต่ตักเตือน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพยายามรณรงค์เรื่องธรรมาภิบาล ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่จะวางรากฐานธรรมาภิบาลโดยเฉพาะ และจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนไม่น้อยที่แหกกฎธรรมาภิบาล
ล่าสุดคือกรณี ซีพีออลล์ 1ในบริษัทเครือซีพี นอกเหนือจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด
การใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบผู้ลงทุนทั่วไปของบริษัทในเครือ ซีพี ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เมื่อกว่า10ปีก่อน ผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เคยถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ปรับมาแล้ว วงเงินประมาณ 5 ล้านบาท
แต่ในช่วงนั้น สังคมตลาดทุนยังไม่ตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาล จึงไม่มีการถามหาความรับผิดชอบจากคณะกรรมการบริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร แตกต่างจากปัจจุบันที่สังคมเคร่งครัดกับความเป็นธรรมาภิบาล
การที่กรรมการบริษัทซีพีออลล์ร่วมกันใช้ข้อมูลภายใน นอกจากสะท้อนถึงความไร้สำนึกในธรรมาภิบาลแล้ว การปล่อยให้นั่งเป็นกรรมการบริษัทต่อไป จะทำลายความศรัทธาของซีพีออลล์ และยังทำให้การรณรงค์ความเป็นธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย
การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์ของกรรมการซีพีออลล์ ได้ปลุกกระแสต่อต้านกลุ่มซีพีในวงกว้าง โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุนทำหน้าที่เป็นหัวหอก ทวงถามความเป็นธรรมาภิบาล และเคลื่อนไหวกดดันให้ดำเนินการลงโทษกรรมการที่กระทำความผิด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ
เมื่อคณะกรรมการซีพีออลล์ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง สมาคมบริษัทจัดการลงทุนจึงประกาศไม่เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม และทยอยขาย หุ้นซีพีออลล์ออก และประสานความร่วมมือกับนักลงทุนสถาบัน เช่นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) สำนักงานประกันสังคม สมาคมประกันภัย เพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท ซีพีออลล์ในแนวทางเดียวกัน
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เป็นผู้บริหารกองทุนรวม ซึ่งระดมทุนจากประชาชนโดยขายหน่วยลงทุน จำเป็นต้องดูแลผลประโยชน์เงินของประชาชนที่บริหาร และเมื่อมีบริษัทจดทะเบียนใดละเมิดหลักธรรมาภิบาล เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป จึงต้องออกมาแสดงจุดยืนต่อต้าน
เพราะถ้าไม่แสดงบทบาทใด มัวแต่เกรงใจบริษัทจดทะเบียน ปล่อยให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเอาเปรียบ ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น จนเกิดความเสียหาย บริษัทจัดการลงทุนต่างๆจะเสื่อมศรัทธา สุดท้ายประชาชนจะไม่ไว้วางใจ และไม่ยอมให้บริหารเงินแทน
การละเมิดหลักธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าการใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป การผ่องถ่ายทรัพย์สิน การปั่นหุ้น หรือการสร้างข้อมูลอำพราง แต่หากเกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก ก็อาจไม่เป็นที่สนใจมากนัก
แต่เมื่อเกิดขึ้นกับกลุ่มซีพี เกิดขึ้นกับบริษัท ซีพีออลล์ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีเครือข่ายธุรกิจทั่วประเทศ และเป็นหุ้นที่มีนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศลงทุน จึงปลุกความสนใจในวงกว้าง
เพราะความเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับชาติ เมื่อกรรมการก่อพฤติกรรมฉาวโฉ่ ใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุนทั่วไป คณะผู้บริหารองค์กร จะต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง และสร้างบรรทัดฐานขององค์กรที่เคร่งครัดกับหลักธรรมาภิบาล
แต่ผู้บริหารกลุ่มซีพีกับสร้างความผิดหวังให้สังคมตลาดทุน โดยยืนกรานไม่ปลดกรรมการที่ร่วมกันกระทำความผิด จุดชนวนการต่อต้านซีพีออลล์รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สมาคมจัดการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายของธนาคารพาณิชย์ มักจะเกรงใจบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เกรงใจเจ้าสัว และไม่กล้าแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์
แต่ท่าทีของผู้บริหารกลุ่มซีพีต่อกรณีการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทซีพีออลล์ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะปล่อยให้กรรมการที่มีพฤติกรรมมัวหมองดำรงตำแหน่งต่อ จึงต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน
แม้กระแสต่อต้าน จะขีดวงไว้เฉพาะหุ้นบริษัท ซีพีออลล์ ไม่ลุกลามไปถึงหุ้นทรู คอร์ปอเรชั่นและหุ้นเจริญโภคภัณฑ์อาหาร แต่ภาพพจน์หุ้นในกลุ่มซีพีถูกกระทบไปด้วย รวมทั้งหุ้นกู้ในเครือซีพีที่มีประมาณ 1 แสนล้านบาทที่อยู่ในข่ายถูกหลีกเลี่ยงการลงทุน
และถ้ากลุ่มซีพีมีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ระดมทุนครั้งต่อไป ก็อาจถูกปฏิเสธการซื้อจากกลุ่มนักลงทุนที่เข้มงวดกับหลักธรรมาภิบาล
การต่อต้านการเอาเปรียบนักลงทุนของกลุ่มซีพีอย่างแข็งกร้าวครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนชาวตลาดทุนกำลังตื่นตัวด้านธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง และถือเป็นปรากฏการณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้พบเห็นบ่อยนักในตลาดหุ้น
การเคร่งครัดธรรมาภิบาลของชุมชนคนในแวดวงตลาดหุ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ดีของการลงทุน และจุดกระแสต่อต้านบริษัทจดทะเบียนที่ไร้ธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง
กลุ่มซีพีกำลังเผชิญกับกระแสต่อต้านความเป็นองค์กรที่ขาดธรรมาภิบาลแล้ว สิ่งที่ต้องจับจ้องกันต่อไปคือ กลุ่มซีพีจะ “ทน” ต่อบทลงโทษทางสังคมได้ขนาดไหนเท่านั้น