xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.จ่อเชือดผู้บริหาร “โกง” ทั้งแพ่ง-อาญา ชี้ CPALL ต้นแบบร่างธรรมาภิบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.
“รพี” เตรียมสังคายนายกเครื่องหลักธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียนใหม่หมด หลังบอร์ดบริหาร CPALL หูทวนลมปล่อยนั่งบริหารต่อ ชี้อนาคตพร้อมฟันผู้บริหารที่กระทำผิดแขวนแบล็กลิสต์ คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ด้าน “ยุทธ วรฉัตรธาร” เผยปัจจุบันบรรษัทภิบาล บจ.ดีขึ้นกว่าอดีตมาก แม้มีบางแห่งยังเป็นแกะดำ เชื่อกระแสสังคมพิพากษาผู้กระทำผิดไร้ที่ยืนเอง

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวในงานสัมมนา CG Forum 1/2016 “จริยธรรม : จิตสำนึกหลักบรรษัทภิบาล” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยได้กล่าวถึงต่อกรณีหลักธรรมาภิบาลของ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อภาคตลาดทุน ทั้ง ก.ล.ต. และ ตลท. พิจารณาขอบข่ายของกฎเกณฑ์ด้านบรรษัทภิบาลร่วมกัน ซึ่งองค์ประกอบหลัก ได้แก่ กฎเกณฑ์ระเบียบทางกฎหมาย กฎเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติ และประการสุดท้าย คือ กระแสต่อต้าน และตัดสินจากสังคม โดยจะมีการประมวลข้อมูลจากหลายผ่ายเข้ามาร่วมกันร่างเพื่อให้มีความเหมาะสมในการบังคับใช้ และมีความรัดกุมที่สุด

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความผิด และบทลงโทษนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว จากการเปรียบเทียบกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงานด้านตลาดทุนในประเทศอื่นๆ มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ทั้งนี้การให้เความตระหนักต่อธรรมาภิบาล และยึดถือความถูกต้องนั้นขึ้นอยู่กับว่า บริษัทจดทะเบียน และผู้บริหาร บจ.จะเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อนักลงทุน หรือให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่ากัน ซึ่งบางครั้งผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการหลงลืมไปแล้วว่านักลงทุน ผู้ถือหุ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของร่วมบริษัทด้วยเช่นกัน เพราะตอนที่เข้ามาระดมทุนก็ต้องการเงินทุนไปขยายกิจการ และนักลงทุนผู้ถือหุ้นเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในความสำเร็จให้ธุรกิจเติบโตไปได้


ขณะที่ทาง ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในช่วงของการแก้ไขหลักธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนใหม่ ซึ่งจะมีความเข้มข้น และเด็ดขาดมากขึ้นกว่าเดิม โดยหากพบการกระทำผิดจริงก็จะพิจารณาตัดสิน เช่น ขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ตามกรอบระยะเวลาความผิด หรืออาจให้พ้นอำนาจการบริหารในบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ และต่อเนื่องไปถึงคดีแพ่ง และอาญาตามมูลฐานความผิดที่ได้กระทำ และความเสียหายที่เกิดขึ้น


ทั้งนี้ คาดว่ากฎเกณฑ์ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้จะเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ ส่วนกรณีของผู้บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ที่กระทำผิดด้วยการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ถือว่าได้มีการพิจารณาตัดสินเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะไม่ขอออกความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว

ขณะที่ในส่วนของ นายยุทธ วรฉัตรธาร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และการให้ความสำคัญต่อบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่หลักของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในองค์กรทุกๆ คนที่จะต้องให้ความสำคัญ ซึ่งต่อไปนี้เชื่อว่าคณะกรรมการ และผู้บริหารย่อมมีความเข้าใจกระบวนการกำกับดูแลทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และการบริหารจัดการที่ดีโดยยึดถือหลักกฎหมาย และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งตนเอง บริษัท และผู้ถือหุ้นด้วย ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การสร้างผู้นำที่ดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ซึ่งเชื่อมั่นว่าอนาคตจะมีการกลั่นกรองคัดสรรผู้นำที่มีความโปร่งใสมาเป็นผู้นำบริหารองค์กร

“กรณีของ CPALL ที่ปรากฏในข่าว และทราบโดยทั่วกันนั้นถือเป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องพิจารณาตามฐานความผิด และเจตนาของการกระทำ หากเทียบกับในอดีตถือว่าน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น