xs
xsm
sm
md
lg

ประเด็นร้อน “ซีพี-ซีพีออลล์” ใช้อินไซด์เดอร์เข้าซื้อหุ้น “แม็คโคร” จบลงด้วยดี ผู้บริหารฯ ยอมจ่ายค่าปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประเด็นร้อน “ซีพี-ซีพีออลล์” ใช้อินไซด์เดอร์เข้าซื้อหุ้น “แม็คโคร” จบลงด้วยดี “ก.ล.ต.-ตลท.” เห็นตรงกันว่า กรณีผู้บริหารทั้ง 2 บริษัท ใช้ข้อมูลภายในทำดีลดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อยอมเสียค่าปรับ เรื่องก็จบ ส่วนจะมีผลกระทบต่อการเป็นบรรษัทธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น เป็นเรื่องการพิจารณาของไอโอดี

รายงานข่าว แจ้งว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เห็นตรงกันว่า กรณีการเปรียบเทียบปรับผู้บริหารในกลุ่ม บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ต่อกรณีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์เดอร์) ซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) นั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งผู้บริหารยอมเสียค่าปรับดังกล่าว ส่วนจะมีผลกระทบต่อการเป็นบรรษัทธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น เป็นเรื่องการพิจารณาของสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ให้โอกาสผู้บริหารของเครือซีพี เพื่อชี้แจงต่อกรณีการใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น MAKRO ซึ่งกลุ่มผู้บริหารก็ยอมรับว่าเป็นผู้กระทำผิด และยอมรับการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่นำข้อมูลภายในของดีลขนาดใหญ่มาหาประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของบริษัท ทำให้เรื่องความรับผิดชอบมีเพียงการเปรียบเทียบปรับ ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องที่ทางผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ชี้แจงกับนักลงทุน คณะกรรมการ และบริษัทต่อไป

“เรื่องดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับบริษัท เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ก.ล.ต.ไม่ได้ทำอะไร เพราะบริษัทไม่ได้ทำผิด Corporate Governance ยังเหมือนเดิม ไม่ได้ปรับลดอะไรในตอนนี้ ส่วนผู้บริหารจะรับผิดชอบอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องไปชี้แจงกับทางบริษัทเอง”

นายรพี กล่าวอีกว่า ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบการใช้ข้อมูลภายในเพื่อผลประโยชน์ในกรณีอื่นๆ ด้วย โดยในปีนี้มีทั้งหมด 6 กรณีที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งรวมถึงกรณีของ CPALL

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า การปรับลดระดับธรรมาภิบาลของกลุ่มบริษัทนั้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ของ ตลท. แต่ขึ้นอยู่กับ IOD ในการตรวจสอบว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เมื่อผู้กระทำผิดยอมเข้าสู่กระบวนการเปรียบเทียบปรับตามที่ ก.ล.ต.กำหนด ก็ถือว่ายุติ แต่หากไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวตามขั้นตอน ก็จะมีการกล่าวโทษต่อไป

โดยเมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) ก.ล.ต. ระบุว่า คณะกรรมการเปรียบเทียบฯ มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์, นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล, นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล และนายอธึก อัศวานันท์ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้บริหารในกลุ่ม CPALL เครือซีพี กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น MAKRO เป็นเงินรวม 33,339,500 บาท และเปรียบเทียบปรับนายสมศักดิ์ เจียรวิสิฐกุล และนางสาวอารียา อัศวานันท์ ซึ่งให้การช่วยเหลือสนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น