xs
xsm
sm
md
lg

“ไฟเบอร์วัน” เตรียมแผนเข้าตลาดหุ้น หวังระดมทุนขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ไฟเบอร์วัน” เตรียมแผนเข้าตลาดหุ้น หวังระดมทุนขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก คาดยื่นไฟลิ่งปี 60 ถึงต้นปี 61

นายกิตติ โกสินสกุล ประธานกรรมการ บมจ.ไฟเบอร์วัน เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยคาดว่าจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 60 พร้อมเข้าเทรดในช่วงปลายปี-ต้นปี 61 โดยปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำมาใช้ขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกแบบรวมศูนย์ (Digital Services Provider : DSP) ที่เป็นเอกสิทธิเฉพาะของบริษัทฯ เพื่อให้เช่าโครงข่ายฯ ภายในโครงการที่อยู่อาศัยแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PCA) ได้เช่าโครงข่ายของบริษัทแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับ บมจ.ทีโอที บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เพื่อให้เข้ามาเช่าใช้โครงข่ายของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่ต้องมาลงโครงข่ายเอง

ทั้งนี้ บริษัทฯตั้งงบลงทุน 3 ปี (59-61) จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการวางโครงข่ายเพิ่มเติม โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าในปี 61 จะวางโครงข่ายให้เข้าถึง 1 ล้านครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ เป็น 2 พันล้านบาท จากคาดสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3 แสนครัวเรือน และรายได้อยู่ที่ประมาณหลัก 100 ล้านบาท และยังมีผลขาดทุนจากที่บริษัทต้องลงทุนจำนวนมากในการวางโครงข่าย

ปัจจุบัน มีโครงการที่อยู่อาศัยให้ความสนใจขอเข้ารับการติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกแบบ DSP นี้กว่า 3,000 อาคาร/หมู่บ้าน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ใช้งานเกือบ 1 ล้านราย เนื่องจากเป็นโครงข่ายที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิดแบบ Sharing Economy อันเป็นปรัชญาหลักของบริษัทฯ ในการแบ่งปันการใช้โครงข่าย โดยไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการลงทุนนี้ จะช่วยปรับภูมิทัศน์บ้านเมืองให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยให้ชีวิตรประชาชน ไม่ให้เกิดมลพิษทางสายตาดังที่ประจักษ์ในปัจจุบัน รวมถึงสร้างการแข่งขันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาว และเป็นการตอบรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digitak Economy) ของไทยอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น