ADVANC : บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ปิดตลาดช่วงเช้าที่ 170 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท เปลี่ยนแปลง +0.59% มูลค่าการซื้อขาย 1,563,135.02 ล้านบาท DTAC : บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ปิดตลาดช่วงเช้าที่ 34.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท เปลี่ยนแปลง +6.92% มูลค่าการซื้อขาย 755,489.90 ล้านบาท TRUE : บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปิดตลาดช่วงเช้าที่ 6.50 บาท ลดลง 0.10 บาท เปลี่ยนแปลง -1.52% มูลค่าการซื้อขาย 562,235.50 ล้านบาท JAS : บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ปิดตลาดช่วงเช้าที่ 2.98 บาท ลดลง 0.02 บาท เปลี่ยนแปลง -0.67% มูลค่าการซื้อขาย 566,712.26 ล้านบาท
สถานการณ์หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการ 4G ทั้ง ADVANC DTAC TRUE และ JAS ยังคงผันผวนตามกระแสข่าว รวมถึงบทวิเคราะห์ถึงความสามารถในการ “ชำระค่าคลื่น” ของ JAS ประกอบกับ TRUE ได้รายงานต่อ ตลท. ว่า มีแผนที่จะประกาศเพิ่มทุนมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ผ่านการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 เม.ย. เพื่ออนุมัติการเพิ่มทุน และวันที่บันทึกรายชื่อ คือ 11 มี.ค. ส่งผลให้ราคาหุ้นทั้ง 4 ค่ายผู้ให้บริการยังคง “ผันผวน” ซึ่ง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และหุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กลับมาน่าสนใจ เมื่อ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เข้าสู่ธุรกิจมือถือไม่สำเร็จ
ดีบีเอสฯ ระบุว่า JAS น้องใหม่วงการมือถืออาจจะไม่สามารถชำระค่าคลื่นได้ เพราะพันธมิตรจากประเทศเกาหลีใต้ก็มีแนวโน้มจะไม่มาร่วมลงทุนกับ JAS ในครั้งนี้ โดยหนังสือพิมพ์รายงานว่า ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อาจมีแผนเตรียมเปิดประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ ซึ่ง ADVANC ก็ให้ความสนใจ หากมีการประมูลใหม่แต่ราคาประมูลไม่ควรจะสูงเท่าครั้งก่อน สำหรับเส้นตายที่ JAS จะต้องนำเงินมาจ่ายงวดแรกที่ 8 พันล้านบาท พร้อมกับ Bank Guarantee ที่ครอบคลุมการจ่ายงวดที่เหลือทั้งหมด คือ 21 มี.ค.59 เห็นว่า JAS ต้องใช้ความพยายามมากในการให้ได้คลื่นมา เพราะปัจจุบันมีรายได้ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท สินทรัยพ์รวมต่ำกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท ในงวดปี 58 อีกทั้งคาดว่า JAS จะประสบความยากลำบากในการทำธุรกิจ โดยคาดว่า JAS จะได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เพียง 2.3% ใน 3 ปี หากทำธุรกิจมือถือ แม้ว่าจะมีสมมติฐานแง่ดีในประมาณการแล้วก็ตาม
ขณะที่ ADVANC นั้นมีสมมติฐานว่า เมื่อ JAS ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาต 900 MHz ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท และบริษัทมีการเช่าเสาโทรคมนาคมจาก บมจ.ทีโอที ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ได้ปรับ Terminal Growth เป็น 2% จากเดิม 0% จะได้ราคาพื้นฐานใหม่เป็น 185.00 บาท ซึ่งมี upside 9% ผนวกต่อคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลปี 59 ที่ดี คือ 7.3% ส่วน DTAC ก็มีสมมติฐานเช่นเดียวกับ ADVANC ได้ราคาพื้นฐานใหม่ที่ 43.00 บาท มี upside 32% และคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลปี 59 ที่สูงมากถึง 10% ดีบีเอสฯ ยังระบุถึงหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ด้วยว่า แม้ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ (not rated) สำหรับ TRUE แต่มีมุมมองในทางลบ โดยเชื่อว่า บริษัทจะมีภาระหนักสำหรับค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจำนวนมากของการได้มาซึ่ง 2 ใบอนุญาตคลื่นความถี่ ประมาณ 7 พันล้านบาท และคาดว่าจะไม่มีกำไรไปอีกในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าทีเดียว อีกทั้งยังไม่แน่ใจในประเด็นที่ TRUE จะขอส่วนต่างราคาประมูลว่าจะสำเร็จหรือไม่ สอดคล้องต่อ บล.เคที ซีมิโก้ เห็นว่า การประกาศเพิ่มทุนของ TRUE ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในธุรกิจ
โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ TRUE ด้วยคลื่นในมือ (ภายใต้ใบอนุญาต) ที่มากที่สุด (55 MHz) และในหลากหลายคลื่นความถี่ (850 MHz, 900 MHz, 1800 MHz และ 2100 MHz) เอื้อต่อ TRUE ที่จะขยายส่วนแบ่งการตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในตลาดบริการข้อมูลที่ต้องการความเร็วสูง และในตลาดระดับกว้าง ดังนั้น เป้าหมายการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้เป็น 30% ภายในเวลา 3 ปีของ TRUE ดูจะมีความเป็นไปได้มาก อย่างไรก็ดี การประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันยังต้องแลกมาด้วยผลประกอบการที่มีแนวโน้มพลิกกลับมาขาดทุน และชะลอเวลาในการจ่ายปันผลของ TRUE ออกไป ราคาหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวแย่กว่าตลาด (Underperform) และยังให้ ADVANC เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีราคาเป้าหมายที่ 188 บาท ขณะที่ บล.ทิสโก้ แนะนำ “ถือ” TRUE ราคาเป้าหมาย 7 บาท/หุ้น โดยมีมุมมองการเพิ่มทุนของ TRUE เป็นไปตามที่เราคาด และมูลค่าที่เหมาะสม 7 บาท (DCF)