กสทช.ร่วมกับ สวทช. เผยผลสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสาร ประจำปี 2558 และประมาณการปี 2559 พบว่า ตลาดสื่อสารปี 2559 มีมูลค่าเฉียด 6 แสนล้านบาท เติบโต 11.5% จากอานิสงส์ของ 4G และนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐดันการเข้าถึงบริการสื่อสารความเร็วสูง ขณะที่ฟีเจอร์โฟนส่อแววหมดตลาด
นางกษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารในครั้งนี้ สวทช.ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT) และสมาคมเคเบิลลิ่งไทย (TCA) โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2559 เน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ประกอบการรายสำคัญในอุตสาหกรรม แล้วนำมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลทุติยภูมิอื่นๆ รวมถึงการจัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลเมื่อปลายเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา
โดยการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. ตามระยะเวลาโครงการสำรวจข้อมูลอินเทอร์เน็ต และศึกษามูลค่าตลาดสื่อสารของประเทศไทย 3 ปี (พ.ศ.2557-2559)
ด้าน นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการสำรวจฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดสื่อสารในปี 2558 มีการเติบโต 7.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 535,989 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวลง เนื่องจากภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ใช้หลักในตลาดระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้องค์กรที่แม้ภาพรวมจะมีการใช้จ่าย และลงทุนมากขึ้น แต่ไม่สามารถดันตลาดให้โตเป็น 2 หลักได้ นอกจากนี้ นโยบายดิจิตอล อีโคโนมีของภาครัฐยังไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนักในปี 2558 สำหรับในปี 2559 คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสื่อสารจะสามารถเติบโตได้ 11.5% หรือมีมูลค่า 597,584 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากแรงกระตุ้นของการขยายโครงข่าย 3G/4G การดำเนินนโยบายดิจิตอล อีโคโนมี ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร และการให้บริการให้เป็นดิจิตอลมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากสภาวะทางเศรษฐกิจยังเป็นแรงกดดันการเติบโตของตลาดสื่อสาร ขณะเดียวกัน หากภาคธุรกิจ และภาครัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการแข่งขันในยุคดิจิตอลจะเป็นอีกข้อจำกัดต่อการเติบโตทั้งในมูลค่าตลาดสื่อสาร และของตัวภาคธุรกิจนั้นๆ เอง
ทั้งนี้ ในปี 2558 บริการนอนวอยซ์ ในบริการโทรศัพท์มือถือมีการเติบโตกว่า 21.5% หรือมีมูลค่า 107,540 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ในปี 2559 จะเติบโตได้ถึง 41.2% หรือมีมูลค่าถึง 151,847 ล้านบาท ขณะที่บริการวอยซ์ ในตลาดโทรศัพท์มือถือมีทิศทางหดตัวลงจากในปี 2557 มีมูลค่า 108,864 ล้านบาท และคาดว่า ตลาดปี 2559 จะหดตัวลงเหลือ 94,712 ล้านบาท ซึ่งเป็นการติดลบ 13.0%
ส่วนตลาดบริการสื่อสารข้อมูล (Data Communication Service) ปี 2558 มีการเติบโต 5.2% หรือมีมูลค่า 14,302 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 2559 จะเติบโตอีก 5.4% หรือมีมูลค่า 15,071 ล้านบาท โดยทิศทางมูลค่าตลาดลักษณะนี้ชี้ให้เห็นว่าบริการที่เกี่ยวข้องต่อการบริโภคข้อมูล หรือดาต้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันตลาดบริการประเภทเสียงมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2558 ตลาดบริการโทรศัพท์ประจำที่ติดลบ 7.4% หรือมีมูลค่า 14,809 ล้านบาท และคาดว่าจะหดตัวลงเป็นติดลบ 12.1% หรือมีมูลค่า 13,016 ล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่า 10,357 ล้านบาท ซึ่งติดลบ 16.6% และคาดว่าในปี 2559 ตลาดจะยังคงหดตัวลงเป็นติดลบ 24.6% ซึ่งการหดตัวลงเหล่านี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคหันไปใช้การสื่อสารผ่านการ Chat มากขึ้น
ขณะที่ตลาดเครื่องโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มเติบโตแบบชะลอตัวลง โดยในปี 2558 มีการเติบโต 12.9% หรือมีมูลค่า 103,725 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 2559 จะมีการเติบโต 3.1% หรือมีมูลค่า 106,960 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าตลาดเครื่องโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่เป็นตลาดเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งในปี 2558 มีมูลค่า 103,050 ล้านบาท และในปี 2559 มีมูลค่า 106,700 ล้านบาท หรือเติบโต 3.5%
ขณะที่ตลาดฟีเจอร์ โฟน ในปี 2558 มีมูลค่า 675 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่า ปี 2559 จะเหลือมูลค่าตลาดเพียง 260 ล้านบาท การชะลอตัวของตลาดโทรศัพท์มือถือเป็นผลจากระดับราคาเครื่องมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทั้งจากการส่งเสริมการขายของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ เอง และการเข้ามาทำตลาดของเครื่องราคาถูกที่มากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือราคาสูงของผู้บริโภคทำได้ยากขึ้นด้วย