xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กร เอ็มเทค / กยท. / ส.อ.ท. / ม.อ. จับมือสร้างเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา” ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานพัฒนายางพารารอบด้าน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “เอ็มเทค สวทช. ได้ให้ความสำคัญต่องานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านยางพารา โดยมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะทางด้านยางธรรมชาติขึ้น มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการและการผลิตยางพาราตลอดกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา” ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในรูปแบบของเครือข่ายระหว่างภาคส่วนหลักที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคราชการ และภาคการศึกษา ที่มีบทบาทในการพัฒนาเกี่ยวข้องกับยางพาราในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงด้านบุคลากร

ด้าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า “การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา มุ่งเน้นการดำเนินการสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์จากยางพารา เทคโนโลยีการผลิตหรือแปรรูปยางพารา การวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงมาตรฐานต่างๆ โดยทั้ง 4 ฝ่ายจะปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งทาง ม.อ. โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ ม.อ. มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในด้านการสร้างนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยียางพาราให้มีคุณภาพสูง ทั้งในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น ร่วมกับ กยท. และหลักสูตรปกติ พร้อมกับสนับสนุนทางวิชาการตามความต้องการของอีก 3 ฝ่ายที่เหลือโดยใช้ศักยภาพของคณาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตยางพาราในประเทศประมาณ 4.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 1 แสนตัน และมีปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศจำนวน 6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 6 หมื่นตัน สำหรับการส่งออกยางพาราต้นน้ำ มีปริมาณ 3.74 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 จำนวน 3 หมื่นตัน ส่วนมูลค่าของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย ปี 2558 มีจำนวน 4.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นวัตถุดิบ 2 แสนล้านบาท และผลิตภัณฑ์ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ถือว่าเป็น Product Champion ของอุตสาหกรรมยางคือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อ ที่มีมูลค่าในการส่งออก 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งประเทศ ซึ่งภารกิจและความรับผิดชอบหลักของ ส.อ.ท. การผลักดันให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกให้มากขึ้น การกำหนดโจทย์ และสนับสนุนข้อมูลแนวโน้มความต้องการนวัตกรรมยางพารา เพื่อให้อีก 3 ฝ่ายสร้างนวัตกรรมได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า “ข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 4 องค์กร ให้เกิดการวิจัยพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยาง ด้านเทคโนโลยีการผลิตหรือการแปรรูปยางพารา ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยาง และผลิตภัณฑ์ยางตามมาตรฐานสากล ทั้งในระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมถึงข้อมูลสารสนเทศยางพารา และการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยางให้กับภาคเอกชน ซึ่งการบูรณาการดำเนินงานระหว่าง 4 องค์กรจะสามารถผลักดันให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น