โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลแก่ “MGR Online ภาคใต้” ว่า วันนี้ (19 ก.พ.) คณะกรรมการสรรหาเพื่อคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กยท.) ที่มี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั่งหัวโต๊ะ ได้ให้ผู้ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติที่มีอยู่ 2 คน จากมีผู้เสนอตัวสมัครเข้าชิงตำแหน่งทั้งสิ้น 7 คนในรอบที่ 3 คือ นายศุภชัย หล่อโลหการ กับ นายธีธัช สุขสะอาด ได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนที่จะสรุปผล และส่งต่อให้บอร์ด กยท.และ รมว.เกษตรฯ พิจารณานำเข้า ครม.เพื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป
แต่ทางด้านแหล่งข่าวผู้ที่คร่ำหวอดในวงการยางพาราไทยกลับให้ข้อมูลว่า ปัญหาคาราคาซังเกี่ยวกับการสรรหาผู้ที่จะนั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ กยท.อย่างเป็นทางการคนแรก ภายหลังที่ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ถูกประกาศใช้มาตั้งแต่เมื่อกลางเดือน ก.ค.2558 ใช่ว่าจะปิดฉากลงได้อย่างง่ายดาย เนื่องเพราะกระบวนการสรรหาในหนนี้แม้จะเดินมาถึงรอบที่ 3 แล้ว ทว่า กลับยังมากมายอุปสรรค และกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปให้แซดในแบบเดิมๆ ที่แสนจะซ้ำซาก คือ มีความไม่ชอบมาพากล ขาดความโปร่งใส และที่สำคัญยังเปิดช่องให้กลุ่มการเมืองพรรคใหญ่ของภาคกลางเข้าครอบงำเพื่อผลักดันเด็กในคอนโทรลเข้าสู่เส้นชัย
ไม่เพียงเท่านั้น ในกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของกระบวนการสรรหาที่ออกจะหนาหูแล้ว ในส่วนของตัวเต็งที่มั่นใจกันว่าจะได้รับเลือกให้ได้นั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ กยท.ที่เวลานี้ถูกเด็ดไว้เพียง 2 คนดังกล่าวแล้ว บุคคลทั้ง 2 ในเวลานี้ก็กลับมากมายไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเส้นทางชีวิต และประวัติความเป็นมาเช่นกัน เพราะถึงแม้จะเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดในองค์กรของรัฐ หรือเอกชน อันต้องตามสเปกที่ถูกล็อกเอาไว้ แต่กลับมีเรื่องราวของความไม่คลีนปรากฏให้สังคมได้เห็นเด่นชัด
สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยัน และถือเป็นตัวอย่างของความไม่คลีนของบุคคลทั้ง 2 ก็คือ ในส่วนของนายศุภชัย หล่อโลหการ สมัยที่ยังนั่งเป็นผู้อำนวยการสำนักนวตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เคยมีเรื่องฟ้องร้องกรณีปลอมแปลงเอกสาร และถูกถอนปริญญา ซึ่งก็แพ้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกาสั่งจำคุกไปแล้ว แต่ดีที่ยังมีการให้รอลงอาญาเท่านั้น ขณะที่ นายธีธัช สุขสะอาด เมื่อครั้งนั่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาด รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เคยร้องเรียนว่าทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) และบอร์ดองค์การตลาดได้มีมติเอกฉันท์ให้เลิกจ้างเมื่อเดือน พ.ย.2555
“แม้กระบวนสรรหาผู้ที่จะเป็นผู้ว่าการ กยท.ยังถูกทำให้เดินหน้าไปได้ในเวลานี้ แต่คนในวงการยางบ้านเราจำนวนไม่น้อยเชื่อกันว่า จะเดินไปได้ไม่สุดทางหรอก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังก้องขึ้นมาไม่ใช่เรื่องอยู่ดีๆ ใครก็สามารถสร้างสถานการณ์ขึ้นมาได้เอง ภาษิตไทยที่ว่าหมาขี้ต้องมีมูลยังใช้ได้จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลชุดนี้ที่ถือว่ามีความเป็นพิเศษในเรื่องอำนาจใหม่ และไม่ค่อยพิสมัยคนกลุ่มก๊วนการเมืองพวกอำนาจเก่า จึงเชื่อกันว่าไม่น่าจะยอมให้ผ่านง่ายๆ และต้องจะมีการเปิดรับสมัครผู้ว่าการ กยท.ในรอบที่ 4 อีกระลอกแน่นอน” แหล่งข่าวผู้ที่คร่ำหวอดในวงการยางพาราไทยให้ความเห็น
ความจริงแล้วปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำที่กำลังกระหน่ำสังคมไทยในเวลานี้ ไม่ใช่เพียงส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อวิถีชีวิตของชาวสวนยางที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลสะเทือนไปถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือมีผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติไปแล้วด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยล้วนต่างก็คร่ำเคร่งต่อการค้นหา “กลไก” ในการเดินออกจากวิกฤตยางที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และประชาชนต่างเห็นพ้องต้องกันให้มีการปรับรื้อโครงสร้างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งใหญ่ ภายใต้ปีกโอบของการก่อกำเนิด “พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็มาเป็นผลเอาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ก.ค.2558 ที่ผ่านมานี่เอง
พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2558 และมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 15 ก.ค.ในอีกวันถัดมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ต้องมีการแจ้งเกิดหน่วยงานอันเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือ “การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)” หรือ “Rubber Authority Of Thailand (RAOT)”
พร้อมๆ กับมอบหมายบทบาทหน้าที่ กยท.เป็น “องค์กรกลาง” ที่รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบแบบครบวงจร หรือตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด อุตสาหกรรม งานวิจัย และงานวิชาการ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกร เพื่อเตรียมพร้อมให้ไทยก้าวสู่การเป็น“ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของภูมิภาคอา เซียน” และ “ผู้นำตลาดยาง” ในอนาคต
จึงไม่แปลกที่ “ผู้ว่าการ กยท.” จะเป็นความหวังให้แก่วงการยางพาราไทย โดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรชาวสวนยาง ภาคผู้ประกอบการธุรกิจยาง ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ แต่สำหรับบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกระทรวงเกษตรฯ และคงต้องเลยรวมไปถึงบรรดานักการเมือง และเครือข่ายที่เคยได้หากินกับวงการยางไทย พวกเขาเหล่านี้ไม่เป็นปลื้มเอามากๆ กับทั้งการทำคลอด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย และที่สำคัญการทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. หากไม่ใช่คนของพวกเขาแล้วจะถูกต่อต้านอย่างชนิดหัวชนฝา
จึงอย่าได้แปลกใจอันใดต่อการที่กระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กยท.จะมีภาพการสยายปีกเข้าเพื่อครอบงำของบรรดานักการเมืองใหญ่ และเครือข่าย โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เอาเลยทีเดียวสำหรับนักการเมืองตัวไม่สูงเท่าไหร่ แต่ว่าบารมีกลับมากมายเป็นล้นพ้น ยิ่งในกระทรวงเกษตรฯ ที่เขา และเครือข่ายเคยครอบครองมานานด้วยแล้ว กลเกมการต่อสู้ในเรื่องเหล่านี้มีหรือที่จะยอมรามือแบบง่ายๆ
แน่นอนว่า การที่เวลานี้ยังไม่ได้คนที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเข้าอกเข้าใจปัญหาของวงการยางอย่างแท้จริงให้เข้าไปนั่งเป็น “ผู้ว่าการ กยท.” เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญของการแก้วิกฤตยางทั้งระบบ ถือว่าเป็นความสูญเสียอย่างมากมายต่อชาวสวนยางที่กำลังเดือดเนื้อร้อนใจกันอย่างสาหัสสากรรจ์ ยิ่งกับชาวสวนส่วนใหญ่ที่ผูกชีวิตและจิตวิญญาณไว้กับต้นยางในภาคใต้ด้วยแล้วถือว่าหนักเอาการเลยทีเดียว
ดังนั้น จึงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า รัฐบาลปัจจุบันที่มีที่มาอย่างพิเศษ มีอำนาจรัฐที่ถูกจัดวางไว้ด้วยคำสั่งพิเศษแบบเต็มไม้เต็มมือ กับเรื่องราวอันเป็นปมปัญหาที่สร้างวิกฤตสาหัสสากรรจ์ในวงการยางไทย ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยื่นมือเข้าไปจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที