ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดูท่าว่าจะไม่ได้สร้างความสุขใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเท่าไรนัก สำหรับมาตรการรับซื้อยางพารา 1 แสนตัน เพื่อดึงราคายาง ที่เริ่มต้นรับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา นั่นเพราะ ชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะนำยางไปขายตามจุดรับซื้อในโครงการดังกล่าวในราคากิโลกรัมละ 45 บาทได้
รวมทั้งเงื่อนไขการรับซื้อที่ค่อนข้างจะจุกจิกเอาการ ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะนำยางไปขายตามโครงการ ทำให้บรรยากาศการซื้อขายยางพาราตามโครงการนี้ เป็นไปอย่างเงียบเหงาตั้งแต่วันแรกที่เปิดรับซื้อ
ทั้งนี้ ตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้อนุมัติหลักการให้ใช้งบประมาณของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในปริมาณ 1 แสนตัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท รวมค่าบริหารจัดการอีก เป็นเงินทั้งสิ้น 5,479 ล้านบาท หลังจากนั้นจะนำยางที่ได้ไปใช้ในโครงการของกระทรวงต่างๆ 8 กระทรวง โดยใช้ในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 2 หมื่นตัน ส่วนที่เหลืออีก 8 หมื่นตันจะทยอยใช้ให้หมดในปีงบประมาณ 2560
ชาวสวนยางที่จะนำยางมาขายตามโครงการนี้ได้ จะต้องขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ก่อน โดยกำหนดให้นำไปขายได้ครอบครัวละไม่เกิน 150 กิโลกรัม และให้นำยางไปขายที่จุดรับซื้อ 1,500 จุดทั่วประเทศ ซึ่งจุดรับซื้อเหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ กยท., องค์การคลังสินค้า(อคส.), เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ มารวมเป็นกรรมการประจำทุกหน่วย โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง).ในพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ทุกจุด
ส่วนขั้นตอนการรับซื้อยางพารา ต้องผ่าน 6 ขั้น และใช้เวลา 2 วัน ชาวสวนยางจึงจะได้รับเงิน ดังนี้
1.เกษตรกรนำน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ มาที่จุดรวมยาง
2. แสดงบัตรขึ้นทะเบียน กยท. และบัตรประชาชน เพื่อลงทะเบียน
3. ส่งมอบยางให้เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจคุณภาพและชั่งน้ำหนัก
4. เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ปริมาณ ประเภทยาง จำนวนเงิน) และออกเอกสาร เป็นหลักฐานให้เกษตรกร 1 ฉบับ
5. เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในการรับซื้อแต่ละวันให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
6. ธ.ก.ส.จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรภายใน 2 วัน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ยืนยันว่าจะเปิดรับซื้อยางตามโครงการนี้ ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน และหากมีปัญหาอีกก็จะรับซื้อยางต่อจนกว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งคงจะไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลทำครบวงจรและทำในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาเปิดรับซื้อยางจริงๆ ในวันที่ 25 มกราคม กยท.สามารถเปิดตลาดรับซื้อได้เพียง 373 ตลาด ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคใต้ 320 ตลาด ใน 13 จังหวัด, ภาคตะวันออก 13 ตลาด ใน 4 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 ตลาด ใน 10 จังหวัด, ภาคเหนือ 12 ตลาด ใน 8 จังหวัด
การเปิดตลาดรับซื้อที่ไม่ทั่วถึง ประกอบกับเงื่อไขการรับซื้อที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และต้องรอเวลาหลายวันกว่าจะได้เงิน ทำให้บรรยากาศการรับซื้อเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเกษตรนำยางพารามาขายเพียงไม่กี่ราย
นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ กยท. ยอมรับว่า การรับซื้อวันแรก พบว่า ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วย มีชาวสวนยางนำยางมาขายยังจุดรับซื้อค่อนข้างบางตา เนื่องจากเกษตรกรหลายรายได้ขายยางไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนในภาคใต้ มีชาวสวนยางนำยางมาขายไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลาปรับขึ้นเล็กน้อย ทำให้ยังไม่นำยางมาขาย
อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากเกษตรกรชาวสวนยางนั้น ยังพบปัญหาปลีกย่อยอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนเกษตรกร การนำหลักฐานต่างๆ ทั้งบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.หรือหลักฐานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ต่อ กยท. โดยปัญหาสำคัญคือ จะได้รับเงินในอีก 2-3 วันข้างหน้าหลังจากขายยาง อีกทั้งยังจำกัดการขายให้เพียงแค่รายละ 150 กิโลกรัม ทำให้เกษตรหลายรายเบื่อหน่ายต่อข้อกำหนดดังกล่าว จนไม่นำยางมาขายให้แก่จุดรับซื้อยางของรัฐบาล แต่ยังคงขายยางให้แก่จุดรับซื้อยางของพ่อค้าคนกลางตามเดิม เนื่องจากต้องการได้เงินไปใช้จ่ายทันที
ในบางจุด เช่น ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านควนกบ จำกัด อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เปิดรับซื้อเป็นวันที่ 2 ก็ยังไม่สามารถเปิดรับซื้อยางตามโครงการของรัฐบาลได้ เนื่องจากการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้คีย์ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ และยังคงเปิดรับซื้อน้ำยางในราคาท้องตลาดต่อไป ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงนี้ต้องเสียโอกาส
ขณะที่จุดรับซื้อน้ำยางสดของเอกชนใน จ.สงขลา ยังคงมีชาวสวนยางรายย่อยนำน้ำยางไปขายตามปกติ แม้ว่าราคารับซื้อบางจุดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท เนื่องจากชาวสวนยางบางส่วนต้องการเงินสดไม่ต้องรอถึง 2 วัน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และบางส่วนก็ไม่ได้ลงทะเบียนต่อ กยท.เพื่อเข้าร่วมโครงการแต่แรก
ส่วนที่จุดรับซื้อยางพาราบ้านไสปุด ต.บ้านควน อ.เมืองตรัง นายสุรจิตต์ อินทรชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 6, 7 ที่ลงไปตรวจสอบความเรียบร้อย บอกว่า โดยภาพรวมทั้งประเทศในการเปิดรับซื้อยาง มีเกษตรกรนำยางมาขายน้อย ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ฝนตก ลมกระโชกแรง เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ และชาวบ้านส่วนใหญ่ยังรับรู้ไม่ทั่วถึง ซึ่งยังมีเกษตรกรบางคนเก็บยางสต๊อกไว้ยังไม่ขาย เนื่องจากยังคงมีเวลาเหลืออีกหลายวัน
นายรัตน์ ศรีกระจ่าง ชาวบ้านใน ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง บอกว่าตนเองไม่สามารถนำยางแผ่นไปขายที่จุดรับซื้อของรัฐบาลได้ เนื่องจากไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามหลักเกณฑ์ของ กยท.ได้ เพราะได้ให้นิยามคำว่า “สวนยาง” หมายถึง ที่ดินปลูกต้นยางเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูกไม่น้อยกว่า 10 ต้น และโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น แต่ตนเองมีสวนยางเพียง 1.5 ไร่ จึงต้องนำยางไปขายพ่อค้าคนจีนในตลาดเหมือนเดิม
บางจุดรับซื้อ เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว ก็ยังมีปัญหาในการเปิดรับซื้อ เช่น ที่สหกรณ์กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยูงทอง จำกัด ต.ท่าดี อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่จะต้องมาใช้งาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พยายามขอใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของผู้จัดการสหกรณ์ โดยจะต้องนำไปลงโปรแกรมในการใช้งาน ซึ่งทุกอย่างยังไม่ได้เริ่มต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพยางที่เกษตรกรนำมาขาย โดยนายสถิตย์ พานิชกุล ผู้อำนวยการ กยท.ฉะเชิงเทรา ซึ่งรับผิดชอบเขตพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และปทุมธานี ยอมรับว่า ชาวสวนยางในพื้นที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจำนวนมาก เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่นั้นยึดเอาตามความสะดวกในการผลิตของตนเองเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้สนใจขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้อง ผลผลิตที่ได้จึงไม่ผ่านเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงที่ยางราคาดีนั้น ทางภาคเอกชนจะรับซื้อยางตามภาวะของตลาดจากเกษตรกรได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีคุณภาพอย่างไรก็ตาม จึงทำให้เกษตรกรเกิดความเคยชิน และละเลยต่อกระบวนการผลิตที่ถูกต้องไป
ส่วนนายอาคม พิญญศักดิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการนี้ สามารถยกระดับราคายางในท้องตลาดให้เพิ่มขึ้นได้ แต่ปัญหาที่พบเป็นเรื่องคุณภาพยางต่ำ และมีข้อเรียกร้องของเกษตรกร ขอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อเป็นรายละ 1-2 ตัน และอยากได้รับเงินทันทีหลังจากขายเสร็จไม่ต้องรอถึง 2 วัน
ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มกราคมว่า มีการรับซื้อยางพาราตามโครงการฯ ทั่วประเทศแล้ว 141.63 ตัน จากเกษตรกร 1,429 ราย สาเหตุที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อย เนื่องจากราคายางพาราในท้องถิ่นปรับตัวสูงขึ้น และบางพื้นที่ปิดกรีดยางแล้ว
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า จุดรับซื้อยังไม่ทั่วถึง บางพื้นที่ไม่มีเกษตรกร บางพื้นที่มี เป็นเรื่องของ กยท.ที่จะต้องเข้าไปดูแล ขั้นตอนในส่วนนี้ กยท.ได้ทยอยดำเนินการ อาจจะช้าบ้าง ส่วนเงื่อนไขให้ขายได้คนละ 150 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรบางคนขี้เกียจขายให้รัฐบาล จึงขายให้พ่อค้าคนกลางอย่างเดิมที่มีเงื่อนไขน้อยกว่า และราคาใกล้เคียงกับของรัฐบาล
การรับซื้อยาง 1 แสนตัน ตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ อาจจะยกระดับราคายางในท้องตลาดขึ้นมาได้จริง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ จากราคาที่ชาวสวนยางเคยเรียกร้องที่กิโลกรัมละ 60 บาท และยังมีปัญหาจุกจิกในการรับซื้อหลายเรื่อง
นี่จึงไม่ใช่โครงการยกระดับราคายางพาราที่ยั่งยืนแต่อย่างใด สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว คือการใช้วัตถุดิบยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้ไม่ต้องพึ่งตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว และทำแผนการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นให้เป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่แค่ไฟไหม้ฟาง เพื่อไม่ให้ปริมาณยางออกสู่ท้องตลาดมากเกินไป จนเปิดปัญหาราคาตกต่ำอีก