xs
xsm
sm
md
lg

กยท.ดำเนินการเอง รับซื้อยางพารา 45 บาท ต่อ กก. “วิษณุ” ย้ำไม่เหมือนจำนำข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกประจำสำนักนายกฯ แจง กยท. รับซื้อยางจากเกษตรกรเอง 45 บาทต่อ กก. กันเงินไว้ดำเนินการ 5.4 พันล้าน ชี้ กลุ่มการเมือง - โซเชียลฯ จับผิดเหมือนจำนำข้าว “วิษณุ” ระบุไม่เหมือนกัน ชี้ ทำตามกฎหมาย และการรับซื้อ อีกทั้งไม่มีการสต๊อก พร้อมจัดกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. ให้แนวทางการช่วยเหลือเพื่อรับซื้อยางประเภทต่าง ๆ จากเกษตรรายย่อยโดยตรง 45 บาทต่อกิโลกรัม จำนวนในเบื้องต้น 1 แสนตัน ซึ่งราคาต่อจากนี้สูงขึ้น แต่ต้องไม่เกิน 60 บาท โดยเป็นข้อยุติของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และในที่ประชุมได้มีการสอบถามข้อมูลเพื่อให้ได้ความมั่นใจและเข้าใจตรงกัน ได้ความว่า สิ่งต่าง ๆ เป็นการดำเนินงานของ กยท. ที่มีกฎหมายรองรับ โดยจะติดต่อประสานงานกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาช่วย ตามดุลพินิจของ กยท. ที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในการรับซื้อยางทุกพื้นที่จะตั้งจุด 1,500 จุด การรับซื้อจะกำหนดเบื้องต้น จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่ ตกประมาณ 150 กิโลกรัม ก็จะสามารถจูงราคาขึ้นมาได้

“จะเห็นว่า ผู้ประกอบการบางรายซื้อในราคาเดียวกับที่รัฐซื้อแล้ว มีการกันเงินส่วนนี้ไว้ประมาณ 5,479 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินที่จะรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินรับซื้อ 4,500 ล้านบาท ที่มาจาก 1 แสนตัน คูณด้วย 45 บาทต่อกิโลกรัม เป็นค่าจ้างแปรรูป ค่าขนส่ง 739 ล้านบาท ค่ารักษา 150 ล้านบาท และค่าดำเนินการตามที่จ่ายจริงประมาณ 90 ล้านบาท สำหรับราคาค่าจ้างแปรรูปนั้น ที่ประชุมชี้แจงว่า ยางที่ซื้อมาจะต้องมีการปรับสภาพ บางทีเป็นน้ำยางสด ถ้าไม่แปรรูปเป็นน้ำยางข้น จะทำให้เสียได้ ถือเป็นการดำเนินการอย่างครบวงจร” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีคำถามในที่ประชุมว่า ในปัจจุบันมีความพยายามของกลุ่มการเมือง และโซเชียลมีเดียบางส่วน ตั้งข้อสังเกตว่า จะเหมือนโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ พูดเลยเถิดถึงกระทั่งว่า เรื่องจำนำข้าวจะมีองค์คณะที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องคดี ถ้า ครม. เห็นชอบในหลักการจะต้องผิดด้วยหรือไม่ ก็มีการอธิบายโดยส่วนทีเกี่ยวข้อง เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่เหมือนกัน โครงการรับจำนำข้าวไม่มีใครเคยไปว่าว่าโครงการผิด แต่ผิดตรงการบริหารจัดการ จนเกิดการทุจริตเสียหาย ซึ่งรัฐบาลรู้ แต่ไม่แก้ไข

แต่โครงการยางพาราดำเนินการเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ราคายางลดต่ำลงเรื่อย ๆ เกษตรกรเริ่มมีการเคลื่อนไหว ว่าไปไม่รอด มีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้าแทรก มีนักการเมืองหลายคนเข้าไปอธิบายความจนมีการรวมกลุ่ม อาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ เพราะฉะนั้นจึงดำเนินการตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 ในมาตรา 8 และ 9 คือ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ให้ กยท. เข้าไปดำเนินการแก้ไข

ส่วนที่ 2 ที่แตกต่างกัน คือ เรื่องโครงการรับจำนำข้าว การบริหารจัดการมีการทุจริตเกิดขึ้นจนมีการรับรู้ แม้กระทั่งการขายแบบรัฐต่อรัฐ แต่โครงการแก้ปัญหายางพาราที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับจำนำข้าว คือ จำนำข้าวรับซื้อทุกเมล็ด ซื้อไม่อั้น แต่ยางมีความต้องการพื้นฐานจากแต่ละกระทรวง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาดทั้ง 2 โครงการ แต่ยางไม่ได้มีการนำมาสต๊อก รับซื้อแล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตทันทีตามความต้องการ

“นายกฯ ยังมีคำถามเพิ่มเติมไปว่า จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าพี่น้องเกษตรกรที่ขายยางออกไปหมดแล้ว ไม่มีในมือ จะไปขอเอายางที่ตัวเองขายมาหมุนเวียนขายอีกหรือไม่ ก็มีคำตอบว่า การยางฯ ประสานความร่วมมือกับ คสช. เข้าไปตรวจสอบคลังเก็บยางที่ได้รับซื้อไปแล้ว เพื่อป้องกันการนำมาหมุนจากสต๊อกมาขายอีก ยืนยันได้ว่า มีกระบวนการในการตรวจสอบทุกขั้นตอน แล้วเราทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่า รัฐบาลให้การสนับสนุน กยท. เข้าไปแก้ไขปัญหา เกษตรกรต้องรักษาสิทธิ์ตัวเอง ไม่ยอมให้ผู้ประกอบการนำมายางมาวนเวียนเอายางมาขายอีก” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น