xs
xsm
sm
md
lg

แผนซื้อยางพารา 4.5 พันล้าน 1 แสนตัน พื้นที่ 3 พันจุด ถึงมือ “บิ๊กป้อม” ชงเข้า ครม.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.)
แผนซื้อยางพารา 1 แสนตัน ถึงมือ “บิ๊กป้อม” วงเงิน 4.5 พันล้าน เข้า ครม.พรุ่งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง กำหนดจุดรับซื้อ 3 พันแห่งทั่วประเทศ เหนือ-อีสาน 1 พันจุด ภาคใต้กระจาย 2 พันจุด ด้านบอร์ดชุดใหม่เร่งจ่ายเงินไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ให้เกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้

วันที่ (18 ม.ค.) มีรายงานว่า พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ได้เรียกกรรมการที่เป็นตัวแทนเกษตรกร 4 คน ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ 2 คน กรรมการผู้ทรงวุฒิจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 7 คน และนายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการแทนผู้ว่าฯ กยท.เข้าประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกที่ กยท.บางขุนนนท์ ภายหลัง ครม.แต่งตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พล.อ.ฉัตรเฉลิมยอมรับว่า การประชุมในวันนี้ได้ประชุมเพื่อเร่งจ่ายเงินไร่ละ 1,500 พันบาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ให้เกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้ รวมถึงแผนเร่งด่วนตามมติ ครม.คือ การรับซื้อยางจากเกษตรกรรายย่อย 1 แสนตัน ร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ กยท.จะรายงานถึงข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินของโครงการฯ นี้ เพื่อให้เงินถึงมือเกษตรกรรายย่อยทุกราย

ด้านนายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการพิจารณากระบวนการทำงานรับซื้อยางของ กยท.กล่าวว่า บอร์ด กยท.จะร่างแผนปฏิบัติการเพื่อใช้เงินจากค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง หรือเงินเซส วงเงิน 4.5 พันล้านบาท ในการรับซื้อยาง 1 แสนตันตามบัญชีรายชื่อเกษตรกรสวนยาง ที่เคยมาขายในจุดรับซื้อต่างๆ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และกำหนดคุณสมบัติยางที่รับซื้อจะซื้อตั้งแต่ยางก้อนถ้วย น้ำยางดิบ และยางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ตั้งราคาไว้ 45 บาท ส่วนคุณภาพต่ำกว่าจะกำหนดราคาลดทอนลงไปตามสูตรความชื้น

ทั้งนี้ การกำหนดจุดรับซื้อ 3,000 จุด ได้แก่ ในโซนภาคเหนือ ภาคอีสาน 1,000 จุด และภาคใต้ 2,000 จุด โดยจะใช้จุดรับซื้อเดิมของ กสย.ที่มีประจำท้องถิ่น (ตลาด 108) ในทุกพื้นที่ ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคย และเคยนำมาขายแล้ว ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มจุดย่อยในพื้นที่ห่างไกลด้วยให้เกษตรกรรายย่อยได้เข้าถึงจริงๆ รวมทั้งดูระยะโรงงานแปรรูปยาง

“วันที่ 18 ม.ค.นี้จะเสนอแผนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายาง ได้เห็นชอบก่อน หากเห็นชอบ จะเสนอแผนการเข้าซื้อยาง เพื่อขออนุมัติจาก ครม.ทันทีเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการเตรียมการเข้าแทรกแซงราคา พร้อมกันนี้ทาง คสช.ได้ประสานหน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วมดูแลความเรียบร้อยจุดรับซื้อทั้งหมด ในส่วน อคส.จะร่วมเป็นหน่วยแบ็กอัพข้อมูลด้วย”

มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ฉัตรเฉลิม และนายประสิทธิ์ หมีดเส็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กยท.ได้เดินทางเข้าเยี่ยมการยางแห่งประเทศไทย (ส่วนกลาง) เพื่อฟังบรรยายสรุปภาพรวม วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ ผลการดำเนินงานหลังจากรวมตัวของ 3 องค์กรเป็น กยท. ตลอดจนแผนการดำเนินงานในปี 2559 รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดย พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวในวันนั้นว่า โครงสร้างการบริหารของ กยท. เป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะถ้าโครงสร้างไม่เสร็จก็เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและมีผลถึงขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรเช่นกัน และโคงการของรัฐต้องเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคมนี้

“ตรงไหนที่เป็นช่องโหว่ช่องว่างเราต้องมาช่วยกันปิด และเราทุกคนเหมือนมาร่วมบุกเบิกด้วยกัน อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคต้องช่วยกันแก้ไข ผมเป็นประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยคนแรก ที่มีคนบอกว่าไม่รู้เรื่องอะไรแล้วมาเป็นทำไม แต่ถูกคำสั่งให้มาเป็น ผมพร้อมที่จะทำ และหวังด้วยว่าเราทุกคนจะร่วมมือร่วมใจกันทำ ในทุกสิ่งถ้าร่วมมือกันทำแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไร ความสำเร็จต้องเกิดอย่างแน่นอน ถึงแม้เรามาจากต่างองค์กร แต่มาจากกระทรวงเกษตรฯเหมือนกัน และทำภารกิจเดียวกันมา น่าจะร่วมกันไปได้ไม่ยาก”

ประธาน กยท.คนใหม่กล่าวต่อว่า จากนี้ตลอดระยะที่เข้ามาทำงานจะพยายามทำให้ภารกิจทุกอย่างลุล่วงไปได้ เพื่อให้คนใหม่ที่มานั้นรับช่วงและเดินต่อไปได้ ตนเองอาจอยู่ไม่นานนัก พวกเราเองก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ตัวเองแย่ยังไม่แข็งแรง แต่เราต้องไปช่วยคนที่แข็งแรงน้อยกว่าอีก ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์มาแต่ต้น เราจะมาช่วยกันเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อประโยชน์ของลูกหลานเราในอนาคต อยากให้ช่วยอะไรกับองค์กรขอให้บอก เพราะที่ผ่านมาตนเคยเป็นบอร์ดมาหลายที่ มองเห็นหลายจุดที่ประสบความสำเร็จก็มี ที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี เนื่องจากเล็งผลเลิศเกินตัวไป เป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ เราอยากประสบความสำเร็จต้องมาช่วยกันคิด และในวันนี้ที่มาพบกันเพื่อทำความรู้จักและพร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดจนยากจะแก้ไข ผู้ใหญ่หลายท่านเข้าใจและเห็นใจการทำงานของพวกท่านมาก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างการบริหาร เราต้องช่วยกันให้องค์กรเจริญก้าวหน้าเพื่อเป็นหลักให้เกษตรกรชาวสวนยางต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น