ครม. เคาะซื้อยางพารา 4.5 พันล้าน เป็นค่าจ้างแปรรูป - ขนส่ง - ค่ารักษายาง เริ่ม 25 ม. “บิ๊กตู่” ห่วง พ่อค้าเวียนเทียนขายซ้ำ จี้ คนซื้อต้องรัดกุม ยันยางพาราต้องมีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขอบคุณชาวสวนยางที่อดทน ไม่ให้ใครมาปลุกปั่นว่าเหมือนโครงการนู้น! แจงตั้งงบปกติปี 59 กว่า 2 พันล้าน พร้อมงบกลาง 6 หมื่นล้าน ไว้ซื้อยาง 1 แสนตัน เหตุเงินปี 59 คงไม่พอ เผย 8 กระทรวง ใช้ยาง 14,000 ตัน ด้าน “ไก่อู” เผย “วิษณุ” การันตี “ซื้อยาง” ไม่ซ้ำรอย “รบ.จำนำข้าว” แฉ! รู้ดีว่าผิดพลาดจนเกิดการทุจริต แต่ไม่รู้วิธีการแก้ไข ด้าน “มท.- กห” เผยต้องการยางรวมกว่า 6 หมื่นตัน ส่วน “ผบ.ทบ.” สั่งหน่วยขึ้นตรงรับซื้อยางพาราตรงตามนโยบายรัฐ
วันนี้ (19 ม.ค.) ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาระบุว่า ครม. มีมติอนุมัติราคารับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรที่ 45 บาท/กก. สำหรับยางแผ่นดิบ วงเงิน 4.5 พันล้านบาท โดยจะเริ่มรับซื้อตั้งแต่ 25 ม.ค. นี้ เป็นต้นไป
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สำหรับแผนรับซื้อยางด้วยเงิน 5,479 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้รับซื้อยางจากเกษตรกร 4,500 ล้านบาท เป็นค่าจ้างแปรรูป ค่าขนส่ง 739 ล้านบาท ค่ารักษา 150 ล้านบาท และค่าดำเนินการตามที่จ่ายจริง 90 ล้านบาท แต่สาเหตุที่ต้องมีค่าจ้างแปรรูป เนื่องจากยางที่รับซื้อจากเกษตรกร บางทีเป็นน้ำยางสด ถ้าไม่แปรสภาพเป็นน้ำยางข้นก็จะเสีย ยางแผ่นดิบก็แปรสภาพเป็นยางแผ่นรมควัน จากยางก้อนถ้วยก็อัดเป็นก้อน จึงต้องมีการจัดงบไว้รองรับการแปรรูป”
ส่วนกรณีที่มีความพยายามของกลุ่มการเมืองบางส่วน และกระแสในโซเชียลมีเดียในการเปรียบเทียบโครงการรับซื้อยางพาราของรัฐบาล กับ โครงการรับจำนำข้าว ว่า จะมีความผิดเหมือนกันหรือไม่ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ถือว่าแตกต่างกัน ส่วนแรกโครงการจำนำข้าวเกิดจากการบริหารจัดการผิดพลาดจนเกิดการทุจริต และรัฐบาลก็รู้แต่ไม่แก้ไข ส่วนการแก้ปัญหายางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดปัญหาแล้ว ราคายางตกต่ำลงเรื่อย ๆ เกษตรกรเริ่มเคลื่อนไหว มีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้าแทรกแซง และอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ จึงได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 ในมาตรา 8 หรือ 9
ส่วนที่ 2 ที่มีความแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว คือ การบริหารจัดการการดำเนินการมีการทุจริตเกิดขึ้นแม้กระทั่งการขายแบบ G to G และโครงการรับจำนำข้าวมีการรับซื้อข้าวทุกเมล็ด แต่การแก้ปัญหายางมีความต้องการพื้นฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ 1 แสนตัน แม้จะซื้อในราคาสูงกว่าตลาด แต่ว่าเป็นการซื้อเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเลยไม่ได้ซื้อแล้วเอามาสต๊อก
“นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงประเด็นดังกล่าว ว่า โครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่ได้มีความผิด แต่มีความผิดในด้านของการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งรัฐบาลที่บริหารโครงการในขณะนั้นก็ทราบ เพราะมีหน่วยงานและนักวิชาการออกมาเตือน แต่ก็ไม่มีการแก้ไข”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่า เกษตรกรที่ขายยางออกไปหมดแล้ว จะเอายางกลับมาวนเวียนขายอีก ก็ได้รับการชี้แจงว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ประสานความร่วมมือกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าไปตรวจสอบคลังเก็บยาง ว่า มีการนำออกมาหมุนเวียนขายอีกหรือไม่ จึงยืนยันได้ว่ามีการกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอนาคตที่ต้องสอดคล้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาง หรือ ซูเปอร์คลัสเตอร์ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย เพื่อในวันข้างหน้าจะได้มีโรงงานไปตั้งขึ้นใหม่แล้วจะใช้ยางในประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่าต้องใช้ยางเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราใช้ยางพารา 90 - 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องไปดูกฎหมาย เพราะเป็นการค้าเสรี
“วันนี้ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความอดทนมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และคงได้เห็นการแก้ไขราคายางของรัฐบาล ซึ่งได้มีการจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารามาโชว์ให้เห็นที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่โดยเฉพาะการจะเอาเงินไปให้ใครเท่าไหร่เป็นไปไม่ได้ วันหน้าประเทศชาติต้องเดินแบบนี้ อยากให้สื่อเข้าใจปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถ้าเราจับสามอย่างมาเจอกันไม่ได้ การแก้ปัญหาก็จะผิดไปหมด แต่เมื่อเราทำแบบนี้การแก้ปัญหาก็จะยุ่งยากหลายประการ ทั้งข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่ ก็ต้องมีการพิจารณาในครม.และฝ่ายกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อยุติ ซึ่งทั้งหมดผ่านการกลั่นกรองพิจารณามาแล้ว อย่าให้ใครมาปลุกปั่นว่าเหมือนโครงการนู้นนี้ มันไม่เหมือนหรอกจะเหมือนกันได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การที่รัฐบาลรับซื้อยางช่วยเกษตรกร เป็นการเริ่มต้น ระยะที่หนึ่ง ในเรื่องการแก้ปัญหายางอย่างครบวงจร เป็นเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็นำมาสู่กระบวนการผลิต ส่วนการตลาดอื่นก็ยังเหมือนเดิมไม่ได้ไปยุ่งอะไร ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้แก้ไขกฎระเบียบในการใช้งบประมาณแผ่นดินจัดซื้อให้แล้ว เพื่อให้เกิดความถูกต้องและคล่องตัว ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่เกิดการแก้ปัญหาได้ และคิดว่าน่าจะดีขึ้นและดีกว่าที่จะใช้เงินฟุ่มเฟือยไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ข้อยุติ ส่วนที่เกรงจะมีปัญหาการทุจริตเรื่องยาง ตรงนี้เขามีมาตรการหมดทุกอัน คิดกันเยอะ เหน็ดเหนื่อยไม่ใช่สั่งโครมแล้วอนุมัติไปซื้อยางอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าซื้ออย่างไรให้สุจริต ทั้งนี้ การทุจริตไม่อยากให้โทษรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ดูข้าราชการเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เกษตรกรหรือใครก็ตามที่จะต้องรับผลประโยชน์ก็ต้องรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่ให้คนเข้ามาครอบงำ
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า มีความกังวลเหมือนกันและได้สั่งไปแล้ว และให้ดูให้ดี กลไกการซื้อต้องรัดกุมไม่อยากให้ไปซื้อแล้วเกิดการนำมาเวียนกันอย่างที่ว่าตรงนี้มันมีโอกาส ไม่ใช่ผมไม่คิด ก็คิด ถ้าทุกคนไม่รักษาสิทธิ์ของตัวเองก็ลำบากไปเอายางที่ขายไปแล้ว มาวนเวียนใหม่ตรงนี้ต้องตรวจสอบให้ดี ซึ่งมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คสช. หลายคนในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้ว ต้องอาศัยกระบวนการแปรรูปในพื้นที่ด้วย
“ไม่ใช่เอาน้ำยางส่งขึ้นรถมาทันทีหลังซื้อ มันก็เสียหมด มันต้องซื้อยางที่ขนย้ายง่าย ซึ่งมีหลายประเภท ส่วนที่เป็นน้ำยางต้องทำให้เป็นวัสดุที่ไม่เสีย แล้วนำมาสู่กระบวนการผลิต หากยังผลิตไม่ได้ก็ต้องมีคลังเก็บรักษาที่ไม่ทับซ้อนกับของเดิม ระมัดระวังหมด ถึงขนาดย้อนไปตรวจคลังต่าง ๆ เดิมที่มีอยู่แล้ว เมื่อรับมาก็มีปัญหาหมด แต่รัฐบาลยืนยันว่าทำอย่างไร ยางเหล่านั้นจะไม่มาทำให้ราคาตลาดตก แต่การที่เราจะไปขายใครก็ตามมันยากที่จะขายในราคาที่สูงของใหม่ก็จี้มา มันต้องแก้ทั้งหมด ยางในคลังและยางรับซื้อใหม่” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ฉะนั้น ต้องมาดูจะช่วยกันอย่างไร จะลดพื้นที่การปลูกยางได้หรือไม่ จะใช้กฎหมายบังคับก็ไม่ค่อยยอมกัน ซึ่งต้องเริ่มในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย แต่การจะดูแลเกษตรกรอย่างไรมันคิดยาก แต่รัฐบาลไม่คิดแบบนี้ ไม่ใช่ลดแรงกดดันไปเฉยๆ แล้ววันหน้าก็มาใหม่ ตนไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นมันไม่ควรจะขู่รัฐบาลได้ โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ เพราะเรามาแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมการใช้ยางแสนตันที่จะนำไปผลิต มีการของบประมาณปกติของปี 59 วงเงินจำนวน 2,000 กว่าล้าน ขณะเดียวกัน ยังมีการของบกลางไว้อีก 60,000 ล้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระยะแรกยังไม่ใช้เงินตรงนั้น แต่ถ้าซื้อยางจำนวนแสนตัน ใช้เงินปี 59 คงไม่พอ ระหว่างนี้กำลังสร้างความเข้มแข็งต้องค่อย ๆ ดำเนินการไปก่อน ซึ่งอาจจะไม่ทันใจเกษตรกรสวนยาง แต่เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอยู่ ถ้าเริ่มจุดนี้ได้ ระยะแรกคงไม่ต้องนำงบกลางมาใช้ เว้นแต่มีส่วนหนึ่งอาจต้องใช้เรื่องการแปรรูปในท้องถิ่น ตรงนั้นต้องมีค่าจ้าง ทั้งนี้ ระยะแรกอาจใช้ยางไม่มากถึงแสนตัน โดยแสนตันเป็นการเปิดหลักการไว้เฉย ๆ ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงเราไม่สามารถซื้อยางได้ทั้งหมด ถ้าในอนาคตเราไม่ลดพื้นที่การปลูกยาง ดังนั้น อยากให้สังคม ประชาชน เข้าใจด้วย ไม่ใช่รัฐบาลจะต้องซื้อให้หมดหรือซื้อทุกอย่าง เพราะคงไม่มีสตางค์หรอก แต่วันนี้เราต้องเริ่มต้นให้ได้ก่อน เพื่อให้กลไกปกติ ภาคธุรกิจเข้าใจ และเกิดการแข็งขันมากขึ้น โดยนำยางไปใช้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เมื่อถามว่า ความต้องการใช้ยางของ 8 กระทรวง มีจำนวนเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ 8 กระทรวงมีความต้องการใช้ยางจำนวน 14,000 ตัน แต่เป็นความต้องการตามที่มีงบประมาณอยู่ หากจำเป็นหรือต้องการมากขึ้น วงเงินที่เปิดไว้ ก็จะนำมาเป็นระยะที่สอง ต้องเดินแบบนี้ ถ้าเดินพรวดพราด ก็จะมีปัญหาอีก ฉะนั้น ตอนนี้ขอให้มาคุยกันว่า 1. จะลดพื้นที่ปลูกยางอย่างไร 2. จะปลูกพืชเสริมอย่างไร เพราะถ้าใช้เงินโครม ๆ เราก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมา พื้นที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะเงินไปลงกับเรื่อง ข้าว ยาง มันสำปะหลัง เป็นมาแบบนี้ตลอด มันถูกหรือผิด ใครเรียนเศรษฐศาสตร์มา ตนเศรษฐศาสตร์จุลจอมเกล้าฯ ล้วน ๆ
เมื่อช่วงบ่าย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการรับซื้อยางตามกลไกร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ คสช. เพื่อให้การรับซื้อเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คือ ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีงบประมาณพอที่จะช่วยเกษตรกรได้ ซึ่งจะให้หน่วยงานของ อปท. พูดคุยกันว่าจะนำยางไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำลานกีฬา ฯลฯ และจะให้ อปท. รับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางที่ผู้ประกอบการที่ทำไว้ ส่วนตัวเลขยอดซื้อยางของกระทรวงมหาดไทย โดยตนประเมินว่า เบื้องต้นอยู่ที่ 5 หมื่นตัน ซึ่งเป็นยางแผ่นรมควัน ซึ่งยังไม่รวมงบ 8 กระทรวง ในปี 2559
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมจะใช้งบประมาณในปี 2559 รับซื้อยางกว่า 6 พันตัน เบื้องต้นจะใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา 1 พันกว่าตัน คาดว่า ในอนาคตจะสามารถรับซื้อได้ถึง 1.5 หมื่นตัน
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า การประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน สั่งการให้กองทัพช่วยสนับสนุนมาตรการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางของรัฐบาลที่มอบหมายให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ, องค์การคลังสินค้า, การยางแห่งประเทศไทย ร่วมดำเนินการในขณะนี้ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กำชับให้ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กำกับดูแลและสนับสนุนมาตรการดังกล่าวให้ตรงกับแนวทางที่ภาครัฐกำหนดในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะการรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนโดยตรง
สำหรับการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานราชการให้มากขึ้น ในเรื่องการจัดหาสิ่งอุปกรณ์ที่ผลิตจากยางพารา เช่น ที่นอนในหน่วยทหาร ยางรถยนต์ เป็นต้น ให้พิจารณาจัดทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิต โดยกำหนดให้ต้องซื้อยางที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบการรับซื้อยางจากเกษตรกรตามมาตรการข้างต้นด้วย