เสร็จสิ้นไปแล้วงาน “ดิจิตอลไทยแลนด์ 2016” จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เมื่อวันที่ 26 - 28 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ผลาญงบไปกว่า 30 ล้านบาท เก็บบูธไม่ทันเสร็จกระแสวิจารณ์สนั่น “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ “ คนร่วมงานน้อยมาก ชนิดที่ว่างานข้างๆอย่าง PET EXPO ยังมีคนเยอะกว่า ทั้งที่งานนี้กระทรวงไอซีทีตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 10,000 คน
“อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที คาดหวังว่างาน“ดิจิตอลไทยแลนด์ 2016”จะเป็นงานระดับชาติที่ทำให้นานาชาติจะเข้าใจว่า ดิจิตอล ไทยแลนด์ ของประเทศไทย คือ อะไร และมั่นใจได้ว่าสิ่งที่กระทรวงไอซีทีกำลังทำจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน แต่กลับมีต่างชาติที่มาร่วมงานน้อยมาก ขณะที่ภาคเอกชนที่มาร่วมออกบูธต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า งานนี้จัดกระชั้นชิดมาก ทั้งๆเพิ่งผ่านการจัดงานสตาร์ทอัป ไทยแลนด์ไปหมาดๆ
**โชว์ 6 ยุทธศาสตร์นามธรรม
อุตตม กล่าวถึงงานดิจิตอลไทยแลนด์ 2016 ว่าจะเป็นงานที่ช่วยให้ผู้เข้าชมงานได้เห็นภาพที่ชัดเจนของแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในภาพรวมทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะจัดแสดงตามโซนต่างๆ ภายในงาน อาทิ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ นำเสนอรูปแบบของเมืองอัจฉริยะที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย , Smart Farm รวมฐานข้อมูล sensor การทำโซนนิ่งและคลัสเตอร์เกษตรปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่ , Digital Education นำเสนอเทคโนโลยี เพื่อการศึกษา Digital Classroom และ Interactive Online Learning , Digital Government ปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิตอล นำเสนอ Digital Services และเทคโนโลยีสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลของรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ TRUE, IBM, AIS, DTAC, TOT, กสทช., Huawei, Minebea, Lazada, NECTEC, Microsoft, Intel, Samsung และกลุ่มธนาคารต่างๆ ฯลฯ นำผลงานและนวัตกรรมสมัยใหม่มาจัดแสดง
แหล่งข่าวจากบริษัทโทรคมนาคม 2 ราย ที่มาร่วมจัดงานแสดง ต่างแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เพิ่งทราบว่าต้องมาร่วมงานดังกล่าวเพียง 2 วัน ก่อนที่จะมีการเริ่มงาน ขณะที่ผู้เข้าร่วมชมงานก็มีจำนวนไม่มาก ไม่เหมือนงานสตาร์ทอัป ไทยแลนด์ ซึ่งที่จริงแล้วงานดังกล่าวจัดหลังจากที่มีงานสตาร์ทอัป ไทยแลนด์จบไปเพียงไม่กี่วัน แต่ก็ไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะเป็นงานที่ภาครัฐขอความร่วมมือมา
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงไอซีที กล่าวว่า งานนี้กระทรวงไอซีทีจ้าง บริษัท กันตนา ออแกไนเซอร์ แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้จัดงานทั้งหมด แต่กลับพบว่ามีหลายสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่กันตนาเสนอไว้
“บูธของกระทรวงที่ยังไม่เสร็จดี บางบูธก็ดูไม่ออกว่าจะสื่อถึงอะไร บอกว่าจะมีดาราดังมาร่วมงาน เพื่อเรียกคนเข้าร่วมงานแต่ก็ไม่มี ส่วนที่เห็นสื่อหลักบางสื่อมีข่าวออกมานั้นเป็นเพราะในสัญญาจ้างระบุว่าต้องให้สื่อหลัก 3-4 ฉบับลงข่าวงานนี้ ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ต่างบ่นว่าการเข้างานยุ่งยาก และบัตรเข้างานหมดตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม นอกจากนี้กำหนดการในการสัมมนาเรื่องต่างๆก็จัดเวลาได้เหลื่อมล้ำกันมาก ดูเหมือนเป็นงานที่กระทรวงไอซีทีจัดขึ้นเป็นเวทีในการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงไอซีทีกับหน่วยงานอื่นๆมากกว่า”
***ขายฝัน ดิจิตอล ไทยแลนด์
ทั้งยังเกิดคำถามตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงการต่างๆที่กระทรวงไอซีทีเคยบอกว่าจะเริ่มทำ ปัจจุบันยังไม่ได้ทำเลย เช่น โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือโครงข่ายถนนหลวงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่จะเริ่มลงทุนในเดือนมิถุนายนนี้ โครงการเครือข่ายศูนย์ดิจิตอลชุมชน ซึ่งจะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอล ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ OTOP เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล ส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น
ขณะที่โครงการสำคัญอย่างดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ กลับไม่ถูกพูดถึงอีกต่อไป เมื่อโครงการถูกพับลงด้วยเหตุผลที่ว่าภาครัฐไม่ได้มีความต้องการขนาดที่จะสร้างดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติได้ ขณะที่โครงการซึ่งได้รับงบประมาณมาแล้วอย่างโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ มูลค่า 15,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการส่วนใหญ่ก็ยังเริ่มโครงการไม่ได้
“จริงๆแล้วกระทรวงไอซีทีก็ไม่ได้ปลื้มทีโอทีและไม่อยากให้ทีโอทีทำโครงการนี้ แต่เมื่อรัฐบาลสั่งให้ทีโอทีทำ ผู้ใหญ่ในกระทรวงก็ต้องยอมรับ โดยขณะนี้งานลงทุนยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตกลงเรื่องสเปกของไฟเบอร์ออปติก กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เนื่องจาก กสท ต้องทำโครงการนี้ในบางพื้นที่ด้วย แต่เนื่องจากสเปกของ กสท เป็นสเปกที่สูงกว่า ทีโอที ดังนั้นทีโอที ซึ่งเป็นผู้ลงทุนกว่า 90 % จะใช้งบประมาณตามสเปกของ กสท ไม่ได้ จึงต้องหาสเปกที่ยอมรับได้ ทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นถึงจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป ก็ต้องลุ้นกันว่า โครงการจะแล้วเสร็จตามกำหนด คือ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2559 - มิถุนายน 2560 จำนวน 4หมื่นหมู่บ้านหรือไม่” แหล่งข่าวจากทีโอที กล่าว
ดูแล้วก็ไม่ต่างจากที่ผ่านมา การจัดงานอีเวนต์เหมือนเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้จับต้องได้ว่ามีผลงาน ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีของประเทศ ก็ยังไม่เดินหน้า และ ยังฝากความหวังไว้กับหน่วยงานที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง อีกไม่นานเกินรอ คงได้เห็นว่าดิจิตอล ไทยแลนด์ จะเกิดได้จริง หรือ แค่เป็นโครงการขายฝัน ปั้นชื่อสวยๆ แต่เนื้อในกลวงโบ๋