xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีเตรียมใช้ระบบ PMO คุมเข้มงบ 2 หมื่น ล. เน็ตหมู่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
“อุตตม” ยิ้มรับงบประมาณ 2 หมื่นล้าน วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ภายในปี 2560 จี้ “ทีโอที-กสท” ส่งแผน 22 ม.ค.นี้ เพื่อให้สรุปแผนพื้นที่วางโครงข่าย ก.พ. ย้ำโครงการต้องไม่ซ้ำซ้อน แต่เปิดทางเอกชนร่วม หวังระยะยาวต่อยอดเป็นอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ เตรียมใช้ระบบ PMO คุมเข้มการใช้งบประมาณ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2559 ได้อนุมัติกรอบงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ด้วยการนำเงินจากการประมูล 4G ของ กสทช.ที่ผ่านมา เพื่อให้นำมาทำโครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ การพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้าน งบประมาณ 15,000 ล้านบาท และโครงการขยายเกตเวย์ไปยังต่างประเทศ ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการ กระทรวงไอซีทีมอบหมายให้ 2 รัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นำแผนงานมาเสนอในวันที่ 22 ม.ค.นี้ เพื่อสรุปพื้นที่ในการวางโครงข่ายภายในเดือน ก.พ. และต้องดำเนินโครงการให้เสร็จภายในปี 2560

สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการแรกนั้น กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการสำรวจพื้นที่การวางโครงข่ายทั่วประเทศ โดยพื้นที่ที่มีโครงข่ายแล้วกว่า 50% ต้องอัปเกรดความเร็วให้ถึง 30/5 Mbps โดยการอัปเกรดนั้นกระทรวงต้องดูว่าจะเปลี่ยนสายทองแดงเป็นไฟเบอร์ทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนแค่อุปกรณ์หัว-ท้าย ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนพื้นที่อีกกว่า 40% หรือประมาณ 30,000 จุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภาคเอกชนไม่ได้ลงทุนนั้น กระทรวงต้องดูพื้นที่การวางโครงข่ายเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันกับทั้งเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีโครงการติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม ในโครงการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ซึ่งเน้นในพื้นที่ชายขอบ และพื้นที่ทุรกันดารด้วย

นอกจากนี้ โครงการที่กระทรวงไอซีทีเคยกำหนดไว้ในการขยายบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน โดยร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) นำอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน จำนวน 10,000 แห่งทั่วประเทศ โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (Smart City จังหวัดภูเก็ต) รวมถึงโครงการขยายอินเทอร์เน็ตร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในงบประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่เหลือจากโครงการติดตั้งไว-ไฟ สำหรับแท็บเล็ตโรงเรียนก็ต้องนำมารวมทำกับงบประมาณใหม่นี้ด้วย ซึ่งการวางโครงข่ายใหม่นี้ กระทรวงไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้เทคโนโลยีเดียว คือ ไฟเบอร์ออปติก แต่หากวิเคราะห์แล้วบางพื้นที่สามารถใช้เป็นไวร์เลส บรอดแบนด์ ก็จะนำมาผสมผสานกัน

“ต้องบอกว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการให้อินเทอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชน แต่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายโดยไม่ปิดกั้นเอกชน ทำให้เอกชนสามารถวางโครงข่ายร่วมกันกับเราได้ ดังนั้น ราคาค่าบริการต้องเป็นราคาที่ไม่แพง ต้องเป็นราคาระดับภูมิภาคที่ประชาชนสามารถจ่ายได้”

ส่วนโครงการที่ 2 เป็นโครงการที่ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสร้างให้ประเทศไทยมีเกตเวย์ราคาถูก สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ อันจะเป็นสิ่งดึงดูดให้คอนเทนต์ โพวายเดอร์ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก มาลงทุนในประเทศไทย และในอนาคตทั้ง 2 โครงการนี้จะต้องถูกนำมาต่อยอด และสามารถนำมาเป็นรูปแบบการลงทุนแบบอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต

นายอุตตม กล่าวว่า การได้งบประมาณในครั้งนี้ นับเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยได้มา ดังนั้น กระทรวงไอซีทีต้องจัดสรรงบประมาณด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น ตนเองจึงได้มอบหมายให้ นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นประธานในการกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณ ด้วยการตั้งระบบ PMO (Project Management Office) โดยต้องมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ และร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งระดับผู้บริหาร และกระทรวงในฐานะผู้กำกับดูแล ดังนั้น ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ต้องส่งแผนการทำงานที่ละเอียด และเบิกจ่ายการดำเนินงานตามจริงด้วยต้นทุนที่เป็นจริง และไม่ควรทำงานเหมือนที่ผ่านมา การทำงานต้องเป็นไปตามเป้าหมาย และเสร็จทันตามกำหนดการ

Company Related Link :
ไอซีที

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น