หลังจากสัปดาห์ที่แล้วได้กล่าวถึงอุปสงค์ หรือความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับ ภาคธนาคารกลาง และภาคเทคโนโลยีไปแล้ว สัปดาห์นี้จะเป็นการกล่าวถึงปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ทองคำสร้างผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ และปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งกว่า 17% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งได้แก่ ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนนั่นเอง
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุน คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 27% ของความต้องการทองคำทั่วโลก สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ระดับ 617.6 ตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 122% จากระดับ 277.9 ตันในไตรมาส 1 ปี 2015 และเป็นความต้องการทองคำรายไตรมาสที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากช่วง Q1/2009 ซึ่งเกิดวิกฤติซับไพรม์ ที่มีความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนอยู่ที่ระดับ 626 ตัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การลงทุนทั้งทางตรงโดยการถือครองทองคำแท่ง และเหรียญทอง และการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุน ETFs
การลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองคำ
ปริมาณความต้องการทองคำในทองคำแท่ง และเหรียญทองทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 อยู่ที่ระดับ 253.0 ตัน ปรับตัวขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการลงทุนอินเดียชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว จากการที่นักลงทุนรอให้ราคาปรับตัวลง และการนัดหยุดงานของผู้ค้าเครื่องประดับในอินเดีย ขณะที่ความไม่แน่นอนของ “Brexit” และการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในยุโรปกระตุ้นความต้องการลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองของผู้บริโภคชาวยุโรป นอกจากนี้ ความต้องการลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ก็มีการเพิ่มขึ้นเช่นกัน อ้างอิงจากยอดขายของ American EagleโดยUS Mint เพิ่มขึ้น 68%YoY ขณะที่ยอดขายของเหรียญ 24k American Buffalo เพิ่มขึ้น 7% YoY และที่น่าสนใจ คือ ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความต้องการลงทุนในทองคำแท่งปรับขึ้นในรายไตรมาสมากที่สุด โดยความต้องการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 3.3 ตัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่ที่ระดับ -3.2 ตัน อันเนื่องมาจากการประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น
การลงทุนกองทุน ETFs ทองคำ
ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2016 มีกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำถึง 363.7 ตัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถือเป็นประมาณสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2009 โดยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเงินโลก อันเนื่องมาจากการใช้นโยบาย Negative Interest Rate Policy (NIRP) หรืออัตราดอกเบี้ยติดลบในประเทศญี่ปุ่น และยุโรป การลดค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน และผลกระทบต่ออาจเกิดกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก และกระแสการคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะถูกชะลอออกไป ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการลงทุนทองคำในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และความไม่แน่นอนของปัจจัยเหล่านี้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อ traditional asset classes (stocks, bonds, and cash) ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง นอกจากนี้ การใช้นโยบาย NIRP ส่งผลให้ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าใน ETFs ทองคำ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนรายใหญ่ที่มีต่อตลาดทองคำในไตรมาสแรกของปีนี้ เช่น จอร์จ โซรอส ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเรียกทองคำว่าเป็นสินทรัพย์ประเภทฟองสบู่ ได้หันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับทองคำในช่วงไตรมาสแรก โดยกองทุน Soros Fund Management LLC ของ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีฉายา “พ่อมดการเงิน” ได้ปรับลดการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ลงถึง 37% เหลือ 3.5 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ และได้นำเงินส่วนนี้ไปซื้อหุ้น บาร์ริค โกลด์ คอร์ป ผู้ผลิตทองแท่งรายใหญ่ของโลกเป็นเงิน 264 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.7% ของหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ โซรอส ยังถือคอลออปชัน 1.05 ล้านหุ้น ในกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำรายใหญ่สุดของโลก
หากความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนในไตรมาส 2 ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนนำราคาทองคำ ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะปรับขึ้นแตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้น นักลงทุนทองคำควรหมั่นติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนทองคำ