อุปสงค์ หรือความต้องการใช้ทองคำในไตรมาส 1 ของปี 2016 ตอนที่ 1
อุปสงค์ หรือความต้องการใช้ทองคำของโลก ประกอบไปด้วยความต้องการจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ ภาคเทคโนโลยี ภาคการลงทุน และภาคธนาคารกลาง โดยจากรายงานของสภาทองคำโลก หรือ World Gold Council บ่งชี้ว่า อุปสงค์ หรือความต้องใช้ทองคำในไตรมาส 1 ของปี 2016 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สู่ระดับ 1,289.8 ตัน ซึ่งความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการทองคำ และราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ความต้องการในภาคเครื่องประดับ ภาคธนาคารกลาง และภาคเทคโนโลยีลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2015 รายละเอียดมีดังนี้
1.ความต้องการทองคำจากภาคเครื่องประดับ : ความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับอยู่ที่ระดับ 481.91 ตัน ลดลง 115 ตัน หรือคิดเป็น -19% จากระดับ 596.9 ตันในช่วงไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว ปริมาณที่ลดลงมาจากศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับทั้งในอินเดีย และจีน ซึ่งต่างเผชิญหน้าต่อสถานการณ์ที่ท้าทายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับ คือ การพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการลดลงในตลาดเอเชีย และตะวันออกกลางซึ่งมีความความอ่อนไหวต่อราคา ขณะที่การนัดหยุดงานของผู้ค้าเครื่องประดับชาวอินเดียส่งผลให้ความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับของอินเดียลดลงกว่า 62 ตัน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของการลดลงของปริมาณความต้องการทองคำจากภาคเครื่องประดับทั่วโลก ด้านจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในผู้บริโภครายใหญ่ก็มีความต้องการจากภาคเครื่องประดับลดลง 37 ตันเช่นกัน จากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
2.ความต้องการทองคำจากธนาคารกลาง : ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อที่แข็งแกร่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีความต้องการทองคำจากภาคธนาคารกลางอยู่ที่ระดับ 109 ตัน ซึ่งลดลง 3% จากปริมาณ 112.3 ตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่รัสเซีย และจีน ยังคงเป็น 2 ผู้ซื้อที่ใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมา และเดินหน้าเพิ่มการถือครองทองคำต่อเนื่อง โดยรัสเซีย สำรองทองคำเพิ่ม 45.8 ตัน และจีนสำรองทองคำเพิ่ม 35.1 ตัน ระหว่างเดือนมกราคม ถึงวันที่ 14 มีนาคม ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางแคนาดา ขายทองคำ 1.7 ตัน เหลือทองคำสำรองเพียง 68 ออนซ์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในระยะยาวที่ดำเนินมาแล้วเกือบ 4 ทศวรรษ นอกจากนี้ ยังมีธนาคารกลางมาเลเซีย (-1.9ตัน) โมซัมบิก (-1.9ตัน) และมองโกเลีย (-1.3 ตัน) ที่ลดการสำรองทองคำในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้
3.ความต้องการทองคำจากภาคเทคโนโลยี : ความต้องการทองคำที่ใช้ในภาคเทคโนโลยีอยู่ที่ระดับ 80.9 ตัน หรือลดลง -3 % YoY ในช่วงไตรมาสแรก แม้ว่าความต้องการในความต้องการในภาคเครื่องประดับ ภาคธนาคารกลาง และภาคเทคโนโลยีปรับตัวลดลง อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทองคำทั่วโลก แต่ราคาทองคำก็สามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งกว่า 17% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และในตอนต่อไป เราจะมากล่าวถึงปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ทองคำสร้างผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวของนักลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง จอร์จ โซรอส และจอห์น พอลสัน ที่มีต่อตลาดทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า