xs
xsm
sm
md
lg

ดับบลิวเอชเอฯ วาง 4 กลุ่มธุรกิจต่อยอดการเติบโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2559 วาง 4 กลุ่มธุรกิจสำคัญที่มีสัญญาณการเติบโตที่แข็งแรง ลอจิสติกส์ระบบฐานข้อมูลดิจิตอล นิคมอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค และพลังงาน ต่อยอดความสำเร็จของผลการดำเนินงานจากปี 58 หลังเข้าซื้อ และควบรวมกิจการ “เหมราชพัฒนาที่ดิน”

นายแพทย์สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร และ น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รองประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรว่า ต้องการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อผนวกธุรกิจของ WHA และเหมราชฯ เข้าไว้ด้วยกัน บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร และทีมผู้บริหารให้ตอบรับต่อการดำเนินงานของธุรกิจในอนาคต ทั้งในด้านลอจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และพลังงาน รวมถึงธุรกิจใหม่อย่างศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลดิจิตอลด้วย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ต่อไป

“โครงสร้างองค์กรใหม่ที่ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มธุรกิจ ออกแบบมาเพื่อให้มีสินค้า และบริการที่หลากหลายสำหรับลูกค้า” นายแพทย์สมยศ อนันตประยูร และ น.ส.จรีพร จารุกรสกุล กล่าว “ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มบริษัทของเราได้ประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่ส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้น ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ตลอดจนโอกาสที่จะนำเสนอขอบเขตโซลูชันด้านอุตสาหกรรมที่ขยายกว้างมากขึ้นอีกด้วย”

** อันดับ 1 ด้านการพัฒนาอาคารคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานแบบ Built-to-Suit **

ในฐานะผู้ริเริ่มออกแบบแนวคิด Built-to-Suit สำหรับธุรกิจลอจิสติกส์ในประเทศไทยเป็นรายแรก เป้าหมายสำคัญของกลุ่ม WHA คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่อุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นพัฒนาอาคารคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานคุณภาพสูงในพื้นที่ยุทธศาสตร์รอบกรุงเทพฯ รวมถึงในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด และต่างจังหวัด กลุ่ม WHA ตั้งใจที่จะส่งมอบ “บริการโซลูชันครบวงจร” เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าจากในประเทศ และต่างประเทศ และช่วยให้ลูกค้าลงทุนด้านลอจิสติกส์ได้อย่างคุ้มค่าในระยะยาว” จากภาพรวมผลงานที่ผ่านมา WHA ยังคงได้ประโยชน์จากฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มดูแลสุขภาพ รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ (3PL) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในประเทศไทย

หลังจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ของเหมราชฯ และมีการผนึกกำลังกันในด้านต่างๆ ผ่านการแบ่งปันฐานลูกค้าให้แก่กันเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น โรงงานสำเร็จรูป และคลังสินค้าของเหมราชฯ จะถูกนำมาพัฒนาร่วมกันต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ WHA สามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่การส่งออก และภาคการผลิต รวมทั้งขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในประเทศไทย นอกจากนั้น รูปแบบการรวมกันทางธุรกิจนี้เองจะช่วยให้กลุ่ม WHA มีการเติบโตอย่างมีศักยภาพสำหรับโรงงานแบบ Built-to-Suit เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ และผลิตภัณฑ์โรงงานแบบ Built-to-Suit ที่มีศักยภาพ เช่น ห้องเย็น ศูนย์กระจายสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิ และสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยิ่งไปกว่านั้น WHA จะใช้ประโยชน์จากการผนึกกำลังกับเหมราชฯ และระบบสาธารณูปโภคในอีสเทิร์นซีบอร์ด (ชลบุรี และระยอง) ที่มีศักยภาพสูง และระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และคลัสเตอร์ลอจิสติกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงในนิคมอุตสาหกรรม และลอจิสติกส์พาร์กของกลุ่ม WHA ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย

“เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจด้านลอจิสติกส์ เราจะปรับปรุงอาคารโรงงาน และคลังสินค้าของเราให้มีความทันสมัยตอบรับความต้องการใหม่ๆ อยู่เสมอ พร้อมทั้งส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ และมีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น” น.ส.จรีพร จารุกรสกุล กล่าว

ปัจจุบัน ลูกค้าของกลุ่ม WHA ในธุรกิจลอจิสติกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย บริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติจากหลากหลายภูมิภาค เช่น เอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี พ.ศ.2558 กลุ่ม WHA มีพื้นที่อาคารคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานสำเร็จรูป คลังสินค้า รวมประมาณ 2 ล้านตารางเมตร โดยคาดว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะสามารถขยายพื้นที่ดังกล่าวได้ถึง 3 ล้านตารางเมตร

 ** เศรษฐกิจดิจิตอล และบิ๊กดาต้า คือ “บ่อน้ำมัน” ของยุคนี้ **

เศรษฐกิจดิจิตอลถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจล่าสุดที่กลุ่ม WHA เล็งเห็นศักยภาพครั้งสำคัญสำหรับการพัฒนา และการเติบโตขององค์กร ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลไทย โดยภายใน 3 ปีข้างหน้าทวีปเอเชียจะครอบคลุมสัดส่วนกว่าครึ่งของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก นอกจากนี้ ด้วยความก้าวหน้าของอีคอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things) และเทคโนโลยี “บิ๊กดาต้า” ที่โดดเด่น และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ด้านดาต้า เซ็นเตอร์เพิ่มสูงขึ้นมาก

กลุ่ม WHA ต้องการเป็นผู้นำในพัฒนาการครั้งสำคัญนี้ด้วยการให้บริการเบ็ดเสร็จสำหรับสาธารณูปโภคดิจิตอล ครอบคลุมบริการ และโซลูชันดาต้าแบบครบวงจร การมุ่งให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์คุณภาพสูงจะทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง เพราะบริษัทมีฐานลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม และลอจิสติกส์ ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติ และบริษัทไทย กลุ่ม WHA มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้ให้บริการสาธารณูปโภค และเทคโนโลยีรายใหญ่ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่โครงสร้างสาธารณูปโภค ไปจนถึงให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ใยแก้วนำแสง และโครงข่ายเคลื่อนที่ จึงทำให้บริษัทเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในด้านแพลตฟอร์มดิจิตอล นิคมอุตสาหกรรมของเราจะได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น “สมาร์ทดิสทริกต์” ที่มีโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไอที และระบบการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุดสำหรับลูกค้าของเรา

“ปัจจุบัน ดาต้าถือเป็น “บ่อน้ำมันในรูปแบบใหม่” และเราตั้งใจจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลรายสำคัญของประเทศ” น.ส.จรีพร จารุกรสกุล กล่าวเสริม “เราจะส่งมอบระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และการสื่อสารระดับเวิลด์คลาส ตลอดจนพัฒนาบริการโซลูชัน และแพลตฟอร์มด้านดาต้าที่ครอบคลุม เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพลูกค้าทั้งที่เป็นบริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติในนิคมอุตสาหกรรมของเรา”

**ผู้นำอันดับ 1 ในประเทศไทยด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม **

ด้วยการผนึกกำลังกันกับเหมราชฯ ทำให้ขณะนี้ กลุ่ม WHA บริหารดูแลนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 8 แห่ง และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาอีก 3 แห่ง รวมทั้งหมดเป็นที่ดิน จำนวน 45,198 ไร่ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่ง ส่งผลให้กลุ่ม WHA รั้งตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ด้วยสัดส่วนทางการตลาดร้อยละ 31 อีกทั้งในช่วง 8 ปีหลังที่ผ่านมา สามารถขายที่ดินได้ทั้งหมด 10,059 ไร่ โดยในปีที่ผ่านมา เหมราชฯ สามารถขายที่ดินไปได้ทั้งหมด 1,043 ไร่ จากสัญญา จำนวน 28 สัญญา ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกค้าใหม่ 22 ราย และจากการขยายกิจการของลูกค้ารายเดิม 6 ราย

ปัจจุบัน เหมราชฯ มีลูกค้าทั้งหมด 668 ราย จากสัญญาที่ดิน และโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 1,003 สัญญา ซึ่งในจำนวนนี้รวมลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 233 ราย กลุ่มลูกค้าคลัสเตอร์ยานยนต์ ประกอบด้วย แบรนด์ระดับโลกมากมาย เช่น ฟอร์ด มาสด้า จีเอ็ม ซูซูกิ เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์อีก 32 รายที่เป็นหนึ่งใน 100 ผู้จำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์โออีเอ็มที่ดีที่สุดของโลกด้วย สำหรับปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกยานยนต์จากกลุ่มลูกค้าคลัสเตอร์ยานยนต์ของเหมราชฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.05 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด

“เรามุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ด้านการขายที่ดินอุตสาหกรรม พร้อมช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางธุรกิจของกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่สำคัญ” มร.เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนต่างประเทศ กล่าว “นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเรามีบทบาทสำคัญมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมาแล้ว เรายังมีแผนที่จะพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกต่างๆ”

ปัจจุบัน ลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของลูกค้าทั้งหมด ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 14 กลุ่มปิโตรเคมี ร้อยละ 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และโลหะ ร้อยละ 9 กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 7 และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อีกร้อยละ 7 เมื่อจัดแบ่งลูกค้าตามประเทศ และภูมิภาค ร้อยละ 38 เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ตามมาด้วยไทย ที่ร้อยละ 19 ยุโรป ร้อยละ 11 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 9 บริษัทสัญชาติจีนมีเพียงร้อยละ 3 ของลูกค้าทั้งหมด แต่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจำนวนนักลงทุนชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้น สัดส่วนลูกค้าทั้งหมดนี้คิดรวมเป็นจำนวนเม็ดเงินการลงทุนถึงกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ประสบการณ์อันแข็งแกร่งกว่า 27 ปีของเหมราชฯ ในการพัฒนานิคมอุสาหกรรม จะส่งผลดีอย่างยิ่งในการเพิ่มยอดรวมจำนวนลูกค้าของเรา อีกทั้งยังช่วยเจาะตลาดใหม่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ในนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท เริ่มต้นจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม ก่อนจะขยายไปยัง กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ต่อไปในที่สุด” มร.เดวิด นาร์โดน กล่าว

** ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องด้านพลังงาน และผู้ให้บริการสาธารณูปโภค **

กลุ่ม WHA ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า จำนวน 13 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2,537 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการอยู่ 6 แห่ง ผลิตไฟฟ้าได้รวม 1,655 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าเอสพีพี 7 แห่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะมีกำลังการผลิตรวมอีก 882 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้สัญญาร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในไทย และต่างประเทศ เช่น โกลว์ เอ็นเนอร์จี กัลฟ์ พาวเวอร์ และบี กริม นอกจากนี้ กลุ่ม WHA กำลังก่อสร้างโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงาน พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ด้วยในขณะนี้

บริการด้านสาธารณูปโภค ประกอบด้วย น้ำดิบ น้ำประปา และน้ำอุตสาหกรรม (กำลังการผลิตรวมกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) รวมไปถึงบริการบำบัดน้ำเสีย (กำลังการผลิตรวมกว่า 54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) และบริการซ่อมบำรุงแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานเหล็ก ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ และปิโตรเคมีบริการต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยให้ลูกค้าของกลุ่ม WHA และลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไร้กังวล แต่ยังเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญของกลุ่ม WHA ด้วย จัดเป็นรายได้ต่อเนื่องที่มีกำไรสูงในรูปแบบเงินปันผล และส่วนแบ่งกำไรจากพันธมิตรทางธุรกิจ

“การผลิตไฟฟ้า และบริการด้านสาธารณูปโภคนับเป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมกันของนิคมอุตสาหกรรมของเรา” มร.เดวิด นาร์โดน อธิบาย “สำหรับพลังงานไฟฟ้าเรามุ่งมั่นที่จะมีบทบาทในกลุ่มพลังงานแบบดั้งเดิมกับเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศ สำหรับบริการสาธารณูปโภคเราตั้งใจที่จะขยายบริการของเราไปสู่การจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ และบริการระบบสื่อสารแบบไฟเบอร์ออปติก ทั้งใน และนอกนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของเรา”



กำลังโหลดความคิดเห็น