หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของไทยต่างหันมาใช้วิธีการเทกโอเวอร์ หรือควบรวมกิจการกันมากขึ้น เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ในการเร่งรัดการเติบโตของกิจการแบบ Inorganic Growth ไม่รอเพียงแค่ผลประกอบการที่โตไปตามขั้นตอน
แต่มีกลุ่มทุนหนึ่งที่มุ่งเน้นกลยุทธ์การขยายกิจการด้วยการเทกโอเวอร์เพียงอย่างเดียว นั่นคือ “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” ที่สร้างตัวขึ้นมาจากธุรกิจสุรา ก่อนขยายมายังธุรกิจเบียร์ภายใต้แบรนด์ตราช้าง จากนั้นก็ขยายออกไปทำอย่างอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ (โดยร่วมทุนกับกลุ่ม Capital Land ของสิงคโปร์) และเป็นเจ้าของที่ดีผืนงามจำนวนมาก
มีคำกล่าวว่า “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เคยนั่งรถผ่านที่ดินผืนหนึ่งแล้วติดใจจึงหันไปสั่งผู้ติดตามว่าให้ไปสืบมาว่าที่ดินผืนนี้ใครเป็นเจ้าของ...คำตอบคือ ที่ดินตรงนั้นเป็นของเขาอยู่แล้ว (สรุปคือ เป็นเจ้าของที่ดินเยอะจนไม่รู้ว่ามีผืนไหนบ้าง)
เรื่องราวของคุณเจริญ น่าทึ่งอย่างมาก เขาเป็นเศรษฐีเพียงแค่ไม่กี่คนของประเทศที่เป็น Bilionare ได้ในช่วงอายุของตัวเอง (คือพ่อไม่ได้รวยมาก่อนนั่นเอง) แม้ว่าพ่อตาจะเป็นผู้สนับสนุนให้ตั้งตัวได้ แต่หลักๆ แล้วเขาเป็นผู้สร้างความมั่งคั่งมาด้วยตัวเอง
หลังจากสร้างตัวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ เจริญ เริ่มต้นกลยุทธ์การไล่ซื้อกิจการโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ธุรกิจค้าปลีกอย่างเบอร์ลี่ยุคเกอร์ บริษัทที่มีอายุกว่าร้อยปี ใช้เป็นเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าในเครือ, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าเทกโอเวอร์บริษัทยูนิเวนเจอร์ (UV) จากเดิมทำธุรกิจสังกะสีก็เป็นอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว และที่ฮือฮาที่สุดคือ เข้าซื้อบริษัทโออิชิ ต่อจากผู้ก่อตั้งคือ “ตัน ภาสกรนที” จนได้พอร์ตของเครื่องดื่ม Non Algohol นั่นคือชาเขียว ตลอดจนอาหารญี่ปุ่นเข้ามา และล่าสุด กับการเข้าซื้อกิจการห้างบิ๊กซี
ที่น่าสนใจคือ แม้กลุ่มสิริวัฒนภักดี จะมีการถือหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก แต่ไม่มีธุรกิจหลักของตระกูลนั่นคือ ธุรกิจเบียร์ (อันนี้โดนต่อต้านจนไม่ได้เข้า แม้จะจดทะเบียนในสิงคโปร์แต่ก็มีฟรีโฟลตต่ำมาก) รวมถึงอสังหาริมทรัพย์นั่นคือ TCC Land อยู่ในตลาดหุ้นแต่อย่างไร
หากวิเคราะห์เกมนี้ คาดเดาว่า กลุ่มสิริวัฒนภักดีไม่ต้องการแบ่งความมั่งคั่งหลักนี้ให้คนอื่นมาเป็นเจ้าของร่วม เช่นเดียวกับตระกูลเจียรวนนท์ ที่ไม่ได้นำซีพีกรุ๊ปเข้ามาในตลาดหุ้น แต่มีธุรกิจอื่นๆ อย่าง CPF, CPALL, TRUE อยู่ในตลาดหุ้น ส่วนตระกูลจิราธิวัฒน์ ก็ไม่ได้นำห้างเซ็นทรัล (ร้านค้าส่วนที่อยูในห้างซึ่งเป็นคนละส่วนกับ CPN ที่บริหารพื้นที่นอกห้าง) เข้าตลาดหุ้น
ล่าสุด กับการเพิ่มทุนให้แก่เบอร์ลี่ยุคเกอร์แบบ RO หรือให้ผู้ถือหุ้นเดิมเป็นผู้เพิ่มทุนเป็นการแสดงให้เห็นว่า กลุ่มสิริวัฒนภักดี ต้องการ “ยืมเงิน” จากผู้ถือหุ้นทั่วไปมาใช้เพิ่มมูลค่ากิจการของตัวเอง แน่นอนว่ากลุ่มของคุณเจริญก็ต้องควักกระเป๋าด้วยเหมือนกันในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็ถือว่าได้รายย่อย และอาจจะมีนักลงทุนสถาบันมาช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะ ขณะที่ความมั่งคั่งหลักในหุ้นไทยเบฟเวอเรจ และทีซีซีแลนด์ ไม่ถูกกระทบไปมาก
หากกลุ่มสิริวัฒนภักดียังคงใช้กลยุทธ์เงินต่อเงินแบบนี้ก็จะมีเรี่ยวแรงไปไล่ซื้อกิจการได้อีกเรื่อยๆ โดยอาศัยผู้ถือหุ้นรายย่อยช่วยออกแรงอีกต่อหนึ่ง ถ้าสำเร็จก็ดีไปรวยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าล้มเหลว ดูจะเป็นฝ่ายรายย่อยที่น่าจะ “เจ็บ” มากกว่า
นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง