หลังจากภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก ทั้งการขอสินเชื่อ การส่งเสริมด้านความรู้ ตลอดจนมาตรการให้การสนับสนุน SMEs รายย่อยที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ไทย ให้สามารถทัดเทียมประเทศต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องไม่ลืมคือ “สุขภาพ (ธุรกิจ) ที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
การหมั่น “ตรวจสุขภาพธุรกิจ” เพื่ออุดช่องโหว่ และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่คาดเดายาก และยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อบวกกับสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสภาพตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องอยู่ภาวะพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง โดยมีการ “ตั้งรับ” และวางแผนเรื่องการเงินไว้ล่วงหน้า
สำหรับบางธุรกิจที่อาจประสบปัญหาสภาพคล่อง และเกิดภาวะชะลอตัว บางรายร้ายแรงถึงขนาดนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย เอ็นพีแอล (NPL) หรือ ติดเครดิตบูโร ซึ่งจะยิ่งทำให้ธุรกิจเข้าสู่ภาวะตีบตัน เพราะนั่นหมายถึง การติดแบล็คลิสต์ในการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อมาประคองธุรกิจ ก็จะหมดโอกาสไปด้วย
การเช็คสุขภาพธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที
สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องถามตัวเองอยู่เสมอ คือ ปัจจุบันกิจการเริ่มมีรายรับลดลงหรือไม่ อีก 3-6 เดือนข้างหน้า ธุรกิจมีรายจ่ายจำเป็นในเรื่องใด ตลอดจนประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า ว่ายังมีสุขภาพที่ดีอยู่หรือไม่ เพื่อทบทวนการให้เครดิตเทอมให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
หากผู้ประกอบการ ได้สำรวจสุขภาพธุรกิจและในด้านรายรับ- รายจ่ายแล้วพบว่าในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้ากิจการอาจต้องประสบปัญหาด้านขาดสภาพคล่องทางการเงิน และอาจทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ต้องขอคำปรึกษาและขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อ เพื่อร่วมกันหาทางออก ปรับเงื่อนไขในการผ่อนชำระให้เป็นไปตามสภาพของกิจการ ตามความสามารถในการผ่อนชำระหนี้
ยกตัวอย่าง หากประเมินแล้ว จะเกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างแน่นอน ให้รีบเจรจาต่อรองกับธนาคาร เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการผ่อนชำระใหม่ ลักษณะนี้ไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ ไม่ต้องอยู่ในสถานะเป็น NPL หรือติดเครดิตบูโร โดยมี 2 แนวทางหลักๆ คือ ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยพักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 12 เดือน หรือหากยังพอมีสภาพคล่องอยู่บ้าง ก็สามารถขอชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น พร้อมเงินต้นบางส่วน
ส่วนผู้ประกอบการรายไหนที่มีแผน ยื่นขอสินเชื่อธนาคาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หัวข้อหลักๆ ที่ต้องพิจารณาก่อน คือ 1. ธุรกิจจัดอยู่ในกลุ่มไหน อาทิ เป็นกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” (Start-up) กลุ่มรายย่อย “ไมโคร เอสเอ็มอี” หรือจะเป็นกลุ่ม SMEs ขนาดกลาง-ใหญ่ ที่ค่อนข้างมีศักยภาพแล้ว เพราะนโยบายแต่ะละธนาคารจะเน้นเจาะกลุ่ม SMEs ที่แตกต่างกัน
2. ผู้ประกอบการ ควรรู้ว่าต้องการเงินทุนเพื่อไปทำอะไร เพื่อขยายกิจการหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อจะรู้ว่าควรกู้เงินในลักษณะไหนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น ถ้าเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น อาจขอกู้เป็นวงเงิน OD (Over Draft) คือ การเบิกเงินเกินบัญชี สำหรับเวลาที่ต้องการใช้เงินกะทันหันเกินกว่าที่เงินในบัญชีมีอยู่ ก็สามารถสั่งจ่ายเช็คได้ทันที แต่ดอกเบี้ยก็จะสูงกว่า การกู้ระยะยาว ซึ่งจะเหมาะสำหรับการขยายกิจการ คือ เป็นการกู้แบบมีกำหนดเวลา (LOAN ) ในการชำระคืน
3. การศึกษาข้อมูล และติดตามข้อมูลข่าวสารด้านนโยบายการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคาร หรือมาตรการ ของภาครัฐ ในการให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถเข้าโครงการต่างๆ ได้ทันท่วงที
สำหรับปีนี้ (2559) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ในฐานะหน่วยงานของรัฐฯ ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง มีเป้าหมายชัดเจนคือ ให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านองค์ความรู้ ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ อย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ บสย.อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในการขอขยายโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร (Micro) ระยะ 2 ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ กำลังอยู่ในระหว่าง ประสานการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้โครงการประชารัฐ ที่ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ 67 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และ สถาบันการศึกษา ไปแล้ว โดยเร็วๆ นี้ เชื่อว่าจะมีความชัดเจนและเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs อย่างแน่นอน
คอลัมน์ SMEs Boost-Up โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *