“เอสเอ็มอีแบงก์” เผย Policy Loan ดอกเบี้ย 4% การอนุมัติสุดฝืด ยื่น 1,682 ราย ผ่านแค่ 158 ราย แจงเหตุคำนิยามไม่ชัดเจน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่กล้าอนุมัติ เกรงกลายเป็นหนี้เสีย ขณะที่ผลดำเนินงานขององค์กร 7 เดือน กำไร 706 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เกือบ 20,000 ล้านบาท
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เผยว่า ความคืบหน้าของโครงการสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ย 4% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ถึงวันที่ 19 ส.ค.2558 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาติดต่อขอสินเชื่อแล้ว วงเงิน 8,208 ล้านบาท จำนวน 1,682 ราย โดยจำนวนดังกล่าวเป็นกรณีตามภูมิภาคได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ถึง 68.94% ส่วนที่เหลือเป็นรายเริ่มธุรกิจ มีนวัตกรรม ขยายธุรกิจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขของสินเชื่อ Policy Loan ดังกล่าว ธนาคารสามารถอนุมัติได้จำนวน 510.15 ล้านบาท จำนวน 158 ราย เท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าจากเป้าและความคาดหวัง สาเหตุสำคัญมาจากประเด็นการนิยามคำว่า “ลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบทางเศรษฐกิจ” ว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งทางสาขาและตัวพนักงานไม่กล้าจะอนุมัติ เนื่องจากเกรงว่าจะผิดเงื่อนไขรวมถึง ส่งผลต่อการเกิดหนี้เสียที่มากขึ้น
ทว่า ขณะนี้ ธนาคารได้ซักซ้อมความเข้าใจกับสาขาทั่วประเทศแล้ว จึงเชื่อว่า ในระยะต่อไปจะสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น และสามารถปล่อยได้หมดเต็มวงเงิน 15,000 ล้านบาทตามเป้าภายในสิ้นปีนี้ (2558) นอกจากนั้น ในส่วนที่อ่อนแอมากๆ ไม่สามารถจะอนุมัติสินเชื่อให้ได้จริงๆ ทางเอสเอ็มอีจะเก็บรวบรวมรายชื่อทั้งหมดส่งต่อไปยังสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อหาทางช่วยเหลือด้านอื่นๆ ต่อไป ซึ่งคงไม่ใช่ด้านการเงิน แต่จะช่วยเหลือด้านการเสริมศักยภาพเพื่อให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ ประคองตัวผ่านวิกฤตไปได้
“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เอสเอ็มอีในกลุ่มสาขา มีปัญหายอดขายลดลงอย่างมาก การเข้ามาขอสินเชื่อเวลานี้ ตัวเลขการประสบธุรกิจ จึงดูอ่อนแอมากๆ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ และเมื่อมาขอเข้าโครงการ Policy Loan จากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แม้ว่า ทางเอสเอ็มอีแบงก์จะพยายามยืดหยุ่นเกณฑ์ที่สุดแล้ว ก็ยังดูน่าห่วง และการกำหนดนิยามที่จะปล่อยได้ ก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้สาขาไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพราะเกรงจะกลายเป็นหนี้เสีย นี่จึงเป็นปัญหาทำให้การอนุมัติยังค่อนข้างช้ามาก” ประธาน กก.เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าว
นอกจากนั้น สำหรับผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2558 มีกำไรรวมเท่ากับ 706 ล้านบาท โดยในช่วงเดือน ก.ค. 2558 มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนปี 2558 ทั้งนี้เป็นผลมาจากดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารเพิ่มขึ้น สินเชื่อมีคุณภาพดีขึ้นลดภาระที่ต้องกันสำรอง และธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนเงินได้เป็นไปตามแผนงาน
ส่วนยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ นับถึงวันที่ 19 ส.ค.2558 ปล่อยไปแล้ว 19,256.46 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นลูกหนี้สินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาท จำนวน 8,711 ราย และ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2558 มียอดสินเชื่อคงค้าง 86,140 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) เท่ากับ 10.05 % จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้มั่นใจว่า เป้าปล่อยสินเชื่อใหม่สิ้นปีนี้จะถึง 40,000 ล้านบาท
ส่วนด้านการแก้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เดือน ม.ค.–ก.ค. 2558 ธนาคารสามารถลด NPLs ได้จำนวน 4,809 ล้านบาท โดย ณ สิ้น ก.ค. 2558 มี NPLs คงเหลือ 27,151 ล้านบาท (คิดเป็น 31.52% ของสินเชื่อรวม) เนื่องจากธนาคารได้ขายหนี้ภาคตะวันออก กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 6 กอง จำนวน 2,769 ล้านบาท และมีการปรับโครงสร้างหนี้และรับชำระหนี้จากลูกหนี้ NPLs อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม NPLs ของธนาคารเดือน ก.ค.2558 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากเดือน มิ.ย. 2558 ที่อยู่ระดับ 27,184 ล้านบาท (คิดเป็น 31.47%ของสินเชื่อรวม) เพราะปัจจุบันการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก เนื่องจากลูกหนี้มียอดขายลดลงมาก ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้คือ การดูแลลูกค้าเดิมไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จำนวนการลด NPLs ค่อนข้างน้อย เพียงประมาณ 33 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว การจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้แก่รายที่มีปัญหาจึงเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์พยายามจะประคับประคองในรายที่กำลังประสบปัญหาไม่ให้ตกชั้นมาอยู่ในกลุ่มหนี้เสีย ซึ่งเป้าที่วางไว้สิ้นปีจะลดให้เหลือ 20,000 ล้านบาท ยอมรับว่ายากมาก แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด
นอกจากนั้น ความคืบหน้า กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs กองย่อยกองที่ 1 (Venture Capital) วงเงิน 500 ล้านบาท ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อ 6 ก.ค. 2558 ว่ามี SMEs 4 ราย ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกองทุน นั้น ขณะนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ และผู้จัดการ ทรัสต์ (Trust Manager) ซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยง กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาแผนการขยายกิจการของ SMEs ทั้ง 4 รายในรายละเอียด เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่ธนาคารจะเข้าร่วมลงทุน ซึ่งตั้งเพดานไว้รายละไม่เกิน 30 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังได้คัดเลือก SMEs ที่อยู่ในข่ายที่จะเข้าร่วมลงทุนเพิ่มได้อีก 4 ราย เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม
ยานยนต์ 2 ราย อุตสาหกรรมพื้นฐาน 1 ราย และอุตสาหกรรมแปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร 1 ราย
ด้านนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีแบงก์ เตรียมเปิดหน่วยบริการทางการเงิน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในวันที่ 2 กันยายนนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการรวมหน่วยงานภาครัฐเปิดเป็น One Stop Service ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยเอสเอ็มอีแบงก์ เป็นธนาคารเดียวที่เปิดให้บริการในศูนย์ดังกล่าวและมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่รวมจัดตั้งในศูนย์ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานแรงงานจังหวัดตาก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก สสว. บีโอไอ บสย. และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง
ทั้งนี้ การเปิดศูนย์ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งในพื้นที่มีเอสเอ็มอีกว่า 2,600ราย และมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ติดชายแดนประเทศเมียนม่าร์ สามารถเป็นประตูเปิดการค้าขายสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายในพื้นที่นี้ประมาณ 60,000 ล้านบาท และ เอสเอ็มอีแบงก์ พร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนผู้ประกอบการในการขยายการค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตากดังกล่าว ด้วยสินเชื่อหลากหลายโดยเฉพาะสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *