นายกฯ ห่วงเอสเอ็มอีรายย่อยแบบบุคคลธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงิน ชมแนวทาง กสอ.ใช้แนวทางดูแลใกล้ชิด ช่วยให้ 5 เดือนอุ้มถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 392 ราย วงเงิน 1,400 ลบ. พร้อมมอบหมาย สสว.เพิ่มบทบาทคัดกรองเอสเอ็มอีสร้างความเชื่อมั่นแก่แบงก์
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมแนวทางของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ใช้แนวทางเข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการรายย่อยอย่างใกล้ชิดด้วย 4 มาตราการ คือ 1. ช่วยให้ผู้ประกอบการมีใจสู้ในการทำธุรกิจ 2. มีความรู้ในการประกอบการ 3. มีนวัตกรรมในการสร้างความแตกต่างเพื่อการแข่งขัน และสุดท้ายคือ 4. มีคู่ค้าเครือข่ายในการขยายกิจการ
“ท่านนายกฯ เป็นห่วงเอสเอ็มอีรายย่อย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งข้อมูลจากการสำมะโนธุรกิจพบว่ามีอยู่ 2,079,267 ราย แต่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบธนาคารได้เพียง 338,000 ราย รวมเป็นยอดสินเชื่อ 949,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ายังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และอาจส่งผลต่อการขยายกิจการ อันเนื่องมาจากผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือจดทะเบียนพาณิชย์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล จะไม่มีบัญชีงบดุลมาแสดงเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคาร ทำให้ยากต่อการได้รับอนุมัติสินเชื่อ” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ทั้งนี้ แนวทางที่ กสอ.กำลังดำเนินการคือ การนำเอสเอ็มอีที่ประสงค์จะขอสินเชื่อแต่ไม่ผ่านการอนุมัติเข้าสู่ระบบการเตรียมตัวใหม่ ทั้งการพัฒนาตนเองให้สามารถจัดเตรียมระบบเอกสารที่จะใช้แสดงเพื่อยืนยันสถานะการประกอบนำไปแสดงต่อธนาคาร การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเสริมนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ธนาคาร รวมทั้งการใช้ช่องทางชมรมเอสเอ็มอี ที่มีอยู่ในหลายธนาคาร เช่น บัวหลวง กสิกรไทย กรุงไทย ซึ่งจะมีความเข้าใจข้อจำกัดของเอสเอ็มอีในระยะเริ่มต้น และช่วยให้การปล่อยสินเชื่อมีความเป็นไปได้มากขึ้น
จากวิธีการเกาะติดดูแลใกล้ชิดดังกล่าวพบว่า ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกช่วยให้เอสเอ็มอีที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อจากระบบธนาคารพาณิชย์สามารถได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวน 392 ราย วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โดยตรงอีกจำนวนหนึ่ง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังมอบนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพิ่มบทบาทนอกจากการให้คำแนะนำในการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่และเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีแล้ว ยังขอให้เพิ่มบทบาทในการเป็นผู้คัดกรองเอสเอ็มอีในแง่ความเป็นไปได้ในการประกอบกิจการ เพื่อที่ว่าจะเป็นด่านหน้าในการคัดกรองและสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งยังเป็นมาตรการป้องกันมิให้เกิด NPL ในอนาคตอีกด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *