“ทิสโก้” เผยกลยุทธ์ลงทุนปี 59 ยังคงมุมมองเดิมต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่เน้นผ่อนคลายด้านนโยบายการเงิน โดยแนะนำทยอยสะสมหุ้นเยอรมนี หุ้นญี่ปุ่น และหุ้นจีน ขณะที่หุ้นไทยผลตอบแทนติดลบ 12.5% เมื่อนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 58
นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2006 โดยจากแถลงการณ์การประชุม ระบุว่า Fed ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้
กรณีดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 2.ตลาดแรงงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และ 3.ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มผ่อนคลายลง รวมถึง Fed ยังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Gradual Increase) ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปนั้น
ซึ่งภายหลังการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ดังกล่าว ส่งผลให้การตอบรับของตลาดหุ้นยุโรป และเอเชียหลายแห่งปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยหายไป ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในปี 2016 บลจ.ทิสโก้ จึงยังคงมุมมองเดิมต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่เน้นผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินในปี 2016 โดยแนะนำทยอยสะสมหุ้นเยอรมนี, หุ้นญี่ปุ่น และหุ้นจีน
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นที่แนะนำในปี 2016 ยังคงเป็นตลาดหุ้นเยอรมนี ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นจีน โดยเศรษฐกิจเยอรมนี ยังคงมีความแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป และมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดย ECB มีมาตรการทำ QE ต่อเนื่อง และมีปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร ประกอบกับปัจจุบันหุ้นเยอรมนี ยังซื้อขายที่ระดับ P/E ต่ำที่สุดในยุโรป
สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชน และการที่ BoJ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านโครงการ QQE รวมถึงการอ่อนค่าของเงินเยนยังส่งผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ทางด้านตลาดหุ้นจีน มองว่า การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงปัจจัยลบชั่วคราว เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้นจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะยังคงเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน และการคลัง รวมถึงการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดหุ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อตลาดหุ้นจีน อีกทั้งปัจจุบันหุ้นจีนยังถูก ซื้อขายที่ P/E เฉลี่ยเพียง 8 เท่า ดังนั้น ทั้ง 3 ตลาดจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
โดยนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-17 ธ.ค.58) ตลาดหุ้นเยอรมนี (DAX) ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 9.5%, ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225) ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 10.9% และตลาดหุ้นจีน (Hang Seng) ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ -7.3% ขณะที่ตลาดหุ้นไทย (SET) ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ -12.5%
ทั้งนี้ กองทุนหุ้นเยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ที่แนะนำในปี 59 ได้แก่ “กองทุนเปิด ทิสโก้ เยอรมนี อิควิตี้” ซึ่งลงทุนในหุ้นเยอรมนี ที่เป็นประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป, “กองทุนเปิด ทิสโก้ เจแปน อิควิตี้” ที่ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น โดยอิงดัชนี Nikkei 225 และ “กองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า H-Share อิควิตี้” ที่ลงทุนเฉพาะหุ้นจีนในตลาดฮ่องกง ซึ่งถือเป็นตลาดที่มี Valuation ที่ถูกมากเมื่อเทียบกับตลาดแห่งอื่น