โดย บลจ.ทิสโก้
เหลือเพียงอีกแค่ไม่ถึงหนึ่งเดือนเราก็จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว ในปี 2015 โดยภาพรวมถือว่าเป็นปีที่ผิดคาดอยู่พอสมควร ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมามากนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 ถึงกว่า 50% และการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก่อให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศ/กลุ่มประเทศหลักๆ ที่ GDP(g) ในปี 2015 ออกมาผิดคาดค่อนข้างมาก โดยประเทศที่ผิดคาดในทางลบ ได้แก่ สหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลงรุนแรง และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ส่งผลลบต่อการลงทุนและส่งออก
ขณะที่จีนมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงกว่าปี 2014 จากกิจกรรมทั้งจากภาคการผลิต การลงทุน และส่งออกที่อ่อนแอกว่าคาด ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นและยุโรปมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากปัจจัยหนุนจากค่าเงินที่อ่อนค่าและนโยบายทางการเงินที่ยังดำเนินมาตรการ QE อย่างต่อเนื่อง สรุปรวมแล้วอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2015 คาดว่าจะออกมาที่ 3.1% ชะลอลงจากระดับ 3.4% ในปี 2014
สำหรับปี 2016 เชื่อว่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่จะมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ตัวแปรหลักจะมาจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน รวมถึงนโยบายทางการเงินที่เริ่มจะมีทิศทางที่ไม่ไปในทางเดียวกันซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึง asset class ที่จะลงทุน โดยในปี 2016 บลจ.คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 3.4% เทียบกับ 3.1% ในปี 2015 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะปรับขึ้นจากปี 2015 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่จะเริ่มทรงตัวและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้บ้าง โดยในรายละเอียดของเศรษฐกิจหลักๆ มีดังนี้
สหรัฐอเมริกา - บลจ.คาดว่าปี 2016 GDP(g) จะอยู่ที่ 2.5% ไม่แตกต่างจากปีนี้มากนัก โดยปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรหลักคือ การลงทุนและการส่งออกที่ยังคงจะต้องเผชิญกับความยุ่งยากเหมือนเช่นปี 2015 อย่างไรก็ตาม ด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแรงและค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนให้แก่การบริโภคในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (Core PCE) จะเริ่มขยับขึ้นมาที่ 1.6% จากราคาน้ำมัน รวมถึงอัตราค่าจ้างแรงงานที่จะปรับสูงขึ้น ดังนั้น ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่จะขยับขึ้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ FED จะขยับดอกเบี้ยขึ้น แต่กระนั้น ด้วยความอ่อนไหวของเศรษฐกิจในอีกหลายๆ ประเทศ บลจ.เชื่อว่า FED จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้จะไม่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กลุ่มประเทศยูโรโซน - บลจ.คาดว่า GDP(g) ในปี 2016 จะขยายตัวที่ 1.7% ดีขึ้นจาก 1.5% ในปี 2015 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำจะเกื้อหนุนต่อการบริโภคของประชาชน นอกจากนี้ การเข้าถึงสินเชื่อที่มากขึ้นและดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยหนุนการลงทุน เช่นเดียวกับการส่งออกที่จะยังคงได้รับประโยชน์จากค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง สำหรับนโยบายทางการเงิน บลจ.เชื่อว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำที่ 1% ในปี 2016 เทียบกับเป้า 2% ที่ ECB วางไว้ จะทำให้ ECB ยังคงนโยบาย QE ต่อไป
ญี่ปุ่น - บลจ.คาดว่า GDP(g) ในปี 2016 จะขยายตัวที่ 1.2% เทียบกับ 0.7% ในปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนจะเกิดจากการบริโภคภายในประเทศที่จะเร่งตัวขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะปรับขึ้น Consumption Tax อีกครั้งในเดือนเมษายน 2017 กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน จะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจขึ้น ขณะที่อัตราการขยายตัวของการนำเข้าที่คาดว่าจะมีอัตราเร่งมากกว่าการส่งออก (Net Export ติดลบ) จะเป็นตัวฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจลง ทำให้โดยรวมแล้วในปี 2016 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก สำหรับนโยบายทางการเงิน ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.3% ในปี 2016 จาก Base Effect ของราคาพลังงานที่ลดลงแรงในปี 2015 ได้จางหายไป ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมุมมองระมัดระวังและให้ความสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ BOJ จะยังคงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป
จีน - บลจ.คาดว่า GDP(g) จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจาก 6.9% ในปี 2015 มาที่ 6.6% ในปี 2016 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลจีนที่จะหันมาเน้นการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น นโยบายที่ยังเข้มงวดต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และในบางกลุ่มอุตสาหกรรมจะทำให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง การบริโภคมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะยังคงเป็นปัจจัยที่ประคองเศรษฐกิจต่อไป สำหรับนโยบายทางการเงิน บลจ.เชื่อว่าจีนจะยังคงนโยบายทางการเงินในลักษณะผ่อนคลายเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไว้ และหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิด Hard Landing
ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปี 2016 บลจ.มองว่าจะมีปัจจัยหลักๆ อยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกเกิดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่แรงและเร็วเกินกว่าคาด แต่ทั้งนี้ ต้องแยกว่าการปรับขึ้นในอัตราที่แรงและเร็วเช่นนั้นเกิดจากสาเหตุใด หากการปรับขึ้นเกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นอย่างมาก การปรับดอกเบี้ยขึ้นในลักษณะนี้จะไม่น่ากังวลเพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งเกินคาดจะส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ แต่หากเกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นจาก Supply Shock การขึ้นดอกเบี้ยจากสาเหตุนี้จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประการที่สอง หากเศรษฐกิจจีนเกิด Hard Landing จะเป็นปัจจัยฉุดให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับลดลงได้