“ทิสโก้” แนะเพิ่มพอร์ตหุ้น “ยุโรป-ญี่ปุ่น-จีน” เชื่อปรับฐานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีสัญญาณบวกจากความคาดหวังต่อการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมของทั้ง BoJ และ ECB รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ฟันธงทั้ง 3 ตลาดจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (ESU) แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่มีสัญญาณบวกจากความคาดหวังต่อการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมของทั้ง BoJ และ ECB รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ ทิสโก้ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนใน “ตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน” โดยมองว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นทั้ง 3 ภูมิภาคได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเชื่อว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะ “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น” และ “ตลาดหุ้นยุโรป” ได้รับปัจจัยหนุนจากความคาดหวังต่อการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมของทั้ง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อในทั้งญี่ปุ่น และยุโรปกลับมาอยู่ในระดับติดลบอีกครั้ง ประกอบกับค่าของเงินเยน และยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจคงดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุด ECB ได้มีการส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า อาจมีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในเดือน ธ.ค.นี้ เราคาดว่า ECB น่าจะประกาศขยายเวลา QE ไปอีก 6 เดือน จากแผนปัจจุบันที่กำหนดไว้ว่าจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2016 ไปเป็นเดือน มี.ค.2017
“ความคาดหวังต่อการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมของทั้ง BoJ และ ECB จะช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นในไตรมาส 4 นี้ ซึ่งหมายความว่า หากตัวเลขเศรษฐกิจยังคงชะลอต่อจากนี้ ตลาดก็จะเริ่มเก็งกำไรจากการผ่อนคลายนโยบาย และทำให้ตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่นมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ส่วนตลาดหุ้นยุโรปก็ได้ผ่านพ้นช่วงแห่งความผันผวนจากปัจจัยวิกฤตหนี้กรีซไปแล้ว” นายคมศร กล่าว
สำหรับ “ตลาดหุ้นจีน” นายคมศร กล่าวว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงในการชะลอตัวอย่างรุนแรง (Hard Landing) อันเป็นสาเหตุของการปรับฐานของตลาดหุ้นจีนในรอบที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลจีนเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2016-2020) ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้หันมาพึ่งพิงภาคการบริโภคแทนการลงทุน และการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าอยู่ในช่วงไม่ต่ำกว่า 6.5%
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ยกเลิกนโยบายการมีบุตรคนเดียว โดยอนุญาตให้คู่สมรสมีบุตรได้ 2คน แต่ยังไม่ได้ระบุกำหนดเวลา หรือรายละเอียด แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีนโยบายหรือประกาศเพิ่มเติม การยกเลิกนโยบายการมีบุตรคนเดียวมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีนั้น สอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาลจีนที่ต้องการให้เศรษฐกิจจีนหันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีน และจะช่วยยกระดับ Valuation ได้ในระยะยาว