xs
xsm
sm
md
lg

เถ้าแก่หรือนักบริหารอาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจะมีผู้บริหารสูงสุด หรือซีอีโออยู่เพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ ผู้บริหารที่เป็นเจ้าของบริษัท หรือเถ้าแก่ กับผู้บริหารมืออาชีพที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อกิจการเลย แต่ถูกว่าจ้างมานั่งบริหาร

ผู้บริหาร 2 แบบนี้ แน่นอนว่าบริษัทที่มีเถ้าแก่ หรือเจ้าของหุ้นนั่งบริหารเองจะให้ความสำคัญต่อราคาหุ้นมากกว่าผู้บริหารอาชีพที่อาจจะมีหุ้นประจำตำแหน่งในมือที่ได้เป็นออปชันแค่เล็กน้อยเท่านั้น

แน่นอน!! ราคาหุ้นที่ขึ้นมาก็คือ “ความมั่งคั่ง” ของตัวเขาเอง หรือตระกูลที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ส่วนบริษัทที่มีผู้บริหารมืออาชีพส่วนมากจะไม่มีการตั้ง KPI ในเรื่องของราคาหุ้นเอาไว้ด้วย และจะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด อาจจะมีบ้างที่ใช้ออปชันในการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เมื่อราคาหุ้นตกลงมาต่ำกว่าความเป็นจริงมากๆ

ในฐานะที่เราเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจการระยะยาว เท่ากับว่าผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคา (Capital Gain) สำคัญกว่าแน่นอน ดังนั้น การเลือกผู้บริหารที่ใส่ใจต่อราคาหุ้นอย่างเหมาะสมจึงมีความจำเป็นไม่ใช่น้อย
นเรศ เหล่าพรรณราย
ประสบการณ์ที่ผมอยู่ในแวดวงตลาดทุนมากว่าสิบปี เห็นตัวตนของเถ้าแก่ที่นั่งบริหารกิจการมีอยู่หลายประเภท พอจะแบ่งได้ดังนี้

หนึ่ง..ไม่สนใจราคาหุ้นเลย ให้ความสำคัญต่อการบริหารธุรกิจเท่านั้น ไม่เคยทำรายการซื้อขายหุ้นตัวเองเลย ไม่เคยออกมาให้ข่าว กิจการประเภทนี้อาจจะมีกำไรเติบโตทุกปี แต่ราคาหุ้นอาจจะไม่ไปไหน เพราะเน้นบริหารแบบคอนเซอร์เวทีฟ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีการใช้ Financial Tool ใดๆ หรืออาจจะไม่กู้เงินจากธนาคารเลย หุ้นที่มีผู้บริหารประเภทนี้อาจจะเหมาะต่อนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงต่ำ

สอง..ให้ความสำคัญต่อราคาหุ้นอยู่พอสมควร ผู้บริหารประเภทนี้จะเข้าซื้อหุ้นตัวเองเมื่อราคาลงมาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อเรียกความมั่นใจ และอาจจะมีขายออกไปบ้างเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น หรืออาจจะอนุมัติให้บริษัทมีการซื้อหุ้นคืน หุ้นที่มีผู้บริหารลักษณะเช่นนี้จะมีข่าวความเคลื่อนไหวของบริษัทออกสื่อเป็นระยะๆ แต่แแนวทางการบริหารจะยังคงเน้นแบบคอนเซอร์เวทีฟ ไม่ใช้ Financial Tool ที่มีความหวือหวา อย่างเช่น การเพิ่มทุน หรือออกวอร์แรนต์

สาม..ให้ความสำคัญต่อราคาหุ้นเป็นอย่างมาก ข้อสังเกตุคือ จะมีข่าวความเคลื่อนไหวออกมาในตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น เซ็นสัญญาลูกค้ารายใหม่ ได้งานประมูลใหม่ ฯลฯ ตลอดจนข่าวที่สร้างความหวือหวา เช่น สนใจที่จะเข้าซื้อกิจการ ผู้บริหารประเภทนี้จะมีแแแนวทางที่ค่อนข้าง Aggressive คือ มีความพยายามที่จะสร้างการเติบโตให้แก่กิจการทั้งแบบปกติ (Organic Growth) และทางลัด (Inorganic Growth) ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้ Financial Tool ทุกรูปแบบ ราคาหุ้นประเภทนี้จะมีความหวือหาเป็นระยะๆ

สี่..สนใจแต่ราคาหุ้น ไม่สนใจการบริหารเลย จะเรียกว่าเป็นนักบริหารก็คงจะไม่ใช่ แต่น่าจะเรียกว่านักเล่นหุ้นมากกว่า!! ผู้ที่บริหารส่วนมากจะไม่ใช่เจ้าของแต่ดั้งเดิม แต่เป็นผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ที่อาจจะเข้ามาจากการเทกโอเวอร์ หรือเพิ่มทุน เวลาที่ออกมาให้ข่าวจะให้ในลักษณะของการ “ขายฝัน” คือ บอกแต่ว่าให้ความสนใจต่างๆ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ที่สำคัญคือ จะเห็นรายงานการซื้อขายหุ้นยาวเป็นหางว่าว หรือบางคนจะเน้นขายหุ้นออกมาฝั่งเดียว ผู้บริหารแบบนี้จะเน้นใช้ Financial Tool เพื่อสร้างราคาหุ้นอย่างต่อเนื่อง ที่นิยมคือ การลดพาร์ แจกวอร์แรนต์ เพิ่มทุนแบบ PP (เพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล) หุ้นหลายตัวที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวสุดท้ายจะพบว่าเป็นเพียงแค่ Money Games ของเจ้าของเท่านั้น และต้องจบลงด้วยการถูแขวนป้าย SP หรือต้อง DeList ออกจากตลาดไปเลย...

โอกาสที่ราคาหุ้นจะเติบโตจึงไม่ได้อยู่ที่งบการเงิน ผลประกอบการ ท่านั้น แต่ต้องดูที่คาแร็กเตอร์ของผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นด้วยว่าเขาสนใจราคาหุ้นไหม หรือสนใจแค่บริหาร รู้จัก Financial Tool แค่ไหน หรือสนใจแต่ราคาหุ้นอย่างเดียว
หุ้นของเรา เราเลือกเองครับ!!

นเรศ เหล่าพรรณาย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น