ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารของ EFORL ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) และยังเป็นบริษัทแม่ของบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) หรือวุฒิศักดิ์คลินิก สถาบันเสริมความงามชื่อดังเจ้าของสโลแกน “เพราะความสวยรอไม่ได้” ใจความสำคัญคือ เป้าหมายหลักของ EFORL หลังจากนี้คือการนำวุฒิศักดิ์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งในปลายปีนี้ และคาดว่าจะเข้าเทรดได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า
จุดประสงค์ของการเข้าตลาดหุ้นเพื่อที่จะลดหนี้ของวุฒิศักดิ์ลงให้เหลือหนี้ต่อทุน 0 เท่า หรือแทบไม่มีหนี้เลย จากปัจจุบันมีอยู่ 1,000 ล้านบาท โดยการขายหุ้นให้นักลงทุนช่วงไอพีโอจะนำไปชำระหนี้ต่อสถาบันการเงิน ขณะที่ EFORL ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะลดภาระหนี้ของตัวเองลงด้วยเช่นกันจากการทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นในวุฒิศักดิ์คลินิกลง ดีลนี้จึงถือว่าเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
ครั้งแรกที่ผมทราบว่า EFORL เป็นผู้ที่คว้าดีลการซื้อหุ้นวุฒิศักดิ์คลินิกจากผู้ถือหุ้นเดิม ค่อนข้างแปลกใจไม่น้อยเพราะทราบมาว่า ผู้ที่ต้องการซื้อหุ้นวุฒิศักดิ์คลินิกนั้นมีแต่ยักษ์ใหญ่แทบทั้งสิ้น รวมไปถึงกลุ่ม IHH จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ากลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็น EFORL ที่คว้าดีลไปได้ ที่สำคัญคือ ดีลดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาของการใช้วิศวกรรมทางการเงิน หรือ Financial Engineering เพื่อสร้างการเติบโตในตลาดหุ้นได้อย่างรวดเร็ว ความน่าสนใจคือ วุฒิศักดิ์คลินิกในเวลานั้นมีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่า EFORL กว่า 453% เหมือนปลาเล็กจะไปกินปลาใหญ่ และ EFORL ต้องใช้เงินกว่า 4,500 ล้านบาทในการปิดดีลนี้ โดย 3,500 ล้านบาท ใช้ในการซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นเดิมและ 1,000 ล้านบาท ในการชำระหนี้สถาบันการเงิน
วิธีการที่ EFORL ใช้คือจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นโดยมีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท มีทั้ง EFORL, กองทุน Solaris Asset Management และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของวุฒิศักดิ์ โดยแหล่งทุนมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทำให้ผู้ถือหุ้นของ EFORL ไม่ต้องเพิ่มทุนในตลาด ไม่ต้องเจอกับ Dilution Effect แต่การจะใช้เครื่องมือทางการเงินแบบนี้ได้ ทั้ง EFORL และวุฒิศักดิ์คลินิกต้องมีหนี้เดิมไม่สูงมากนัก อีกทั้งธุรกิจของวุฒิศักดิ์ยังเป็นผู้นำในตลาด สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินมั่นใจในการปล่อยกู้ให้แก่ดีลนี้
ผลจากดีลนี้ทำให้ EFORL สามารถเป็นเจ้าของกิจการที่มีสินทรัพย์ รายได้ และกำไรสุทธิต่อปีที่สูงกว่าได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มทุน แม้จะแลกกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นแต่ทาง EFORL และวุฒิศักดิ์ก็กำลังจะลดหนี้ส่วนนี้ด้วยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ การเข้าสู่ตลาดหุ้นทำให้กิจการมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความหลากหลาย นอกเหนือไปจากการกู้จากตลาดเงินทั่วไป ทำให้กิจการมีโอกาสเติบโตได้เร็ว อย่างกรณี EFORL ถือว่าพื้นฐานกิจการเปลี่ยนจากผู้จำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์มาเป็นเจ้าของธุรกิจเสริมความงามที่มีมาร์จิ้นสูง และอยู่ในเทรนด์ที่กำลังเติบโตได้
สำหรับนักลงทุนควรจะมองหาหุ้นที่มีการใช้วิศวกรรมทางการเงินเพื่อเร่งสร้างอัตราการเติบโตแบบ Inorganic เช่นในรูปแบบของ EFORL หรือแม้แต่ WHA ที่ซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่าง HEMRAJ ถึงจะเรียกได้ว่าใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้สมน้ำสมเนื้อ
นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง