คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ชูศักยภาพตลาดทุนไทยช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า และเป็นช่องทางให้ภาครัฐ และภาคเอกชนใช้เป็นช่องทางระดมทุนนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
นายวรพล โสศติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ และคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. กล่าวในงานปาฐกถาเรื่อง “ตลาดทุน…เครื่องยนต์ Hybrid พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี หลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต (MPPM) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถึงแนวทางของการพัฒนาประเทศในอนาคตว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่อจากนี้ไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้มากนัก เนื่องจากผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวฉุดรั้งทำให้ไทยไม่สามารถก้าวข้ามวังวนเศรษฐกิจซบเซา และกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้
“ในปีที่ผ่านมา มีหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 45 หลักทรัพย์ รวมมาร์เกตแคปหุ้น IPO สูงเกินระดับ 3 แสนล้านบาท สูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และมีมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,466.49 ล้านบาทต่อวัน สูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้แสดงให้เห็นความสามารถของตลาดทุนไทยที่มีศักยภาพนำมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ และพร้อมเป็นพลังงานขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจเชิงคุณค่าเพื่อรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษต่อไปได้เป็นอย่างดี”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และลดความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ผ่านช่องทางตลาดทุนไทยที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยพลิกฟื้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุผลดังกล่าวได้ เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดทุนไทยมีความโดดเด่นในระดับภูมิภาค และสามารถเป็นเสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต โดยขนาดของการระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุน (หุ้นสามัญ) และตลาดตราสารหนี้มีมูลค่ารวมใหญ่มากกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับสินเชื่อเงินกู้จากสถาบันการเงิน และบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดทุนมีทุนรวมเป็นมูลค่า Market Capitalization มากกว่า GDP ของประเทศ
ขณะเดียวกัน เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า หรือเศรษฐกิจคุณค่า โดยมุ่งเน้นด้านคุณค่าของสินค้า และบริการด้วยนวัตกรรมที่ดีกว่า และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า มากกว่าใช้ปัจจัยด้านราคาเป็นตัวกำหนด ซึ่งการทำให้สัมฤทธิผลจำเป็นต้องอาศัยเศรษฐกิจ 4 ฐาน ได้แก่ เศรษฐกิจฐานความเชื่อมโยง ที่ใช้ความได้เปรียบของไทยมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคในการสร้างเศรษฐกิจคุณค่าจากการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้า และการลงทุน
ทั้งนี้ ในส่วนเศรษฐกิจฐานดิจิตอลนั้น ประเทศไทยต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายสื่อสารทั่วโลกได้สะดวก และมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมช่องทางการทำธุรกิจ และการระดมทุนผ่านระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เศรษฐกิจฐานความรู้ ต้องใช้วิทยาการต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาสร้างองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ไทยมีศักยภาพเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบให้สามารถแข่งขันในระดับโลก และสุดท้ายเศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์ ที่นำผลิตภัณฑ์จากการคิดสร้างสรรค์ทุกแขนงบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี หรือภูมิปัญญาไทย เช่น ร้านอาหารไทยทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย OTOP การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน ซึ่งเป็นความสามารถที่เป็นจุดเด่นของคนไทยมาทำให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ในส่วนของฐานเศรษฐกิจที่กล่าวมาจะขับเคลื่อนจุดแข็งของประเทศไทยให้โดดเด่นขึ้นนั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณ และการลงทุนสูง งบประมาณภาครัฐ และเพดานหนี้สาธารณะซึ่งมีอยู่จำกัด ดังนั้น ตลาดทุนจึงเป็นเครื่องยนต์พลัง Hybrid ที่สามารถสลับเข้ามาทดแทนการใช้งบประมาณแผ่นดิน และหนี้สาธารณะที่มีข้อจำกัดได้ โดยสามารถเร่งรัดขับเคลื่อนด้วยการระดมทุน เพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ของประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
“ตลาดทุนถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย และสามารถนำไทยสู่เศรษฐกิจคุณค่า และก้าวพ้นไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ โดยทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากตลาดทุน เนื่องจากภาครัฐสามารถตั้งกองทุนพื้นฐาน เพื่อระดมทุนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ขณะที่ภาคธุรกิจใช้เป็นแหล่งระดมทุนขยายกิจการ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ และภาคประชาชนใช้เป็นแหล่งลงทุนเพื่ออนาคตที่จะสร้างความมั่นคงทางการเงิน และความอยู่ดีมีสุขในวัยเกษียณได้”