ทีดีอาร์ไอ ระบุตลาดทุน-ตลาดเงินยังอาจผันผวนจากผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้าง ศก.จีน ธปท. ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง และในระดับอัตรา ดบ.ที่ 1.5% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ที่จะช่วยเอื้อต่อการฟื้นตัวทาง ศก. และส่งออก ย้ำการดูแลในเรื่องค่าเงินให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะในระยะสั้นมั่นใจมีเครื่องมือที่เพียงพอ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแผนการปฏิรูปประเทศที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากกว่า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีการเร่งดำเนินการอยู่ หากสำเร็จจะส่งผลทำให้ Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยยังมีจุดดึงดูดเม็ดเงินลงทุนอยู่อีกมาก
นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา “ตลาดการเงินไทย เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ที่ 2.7% แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยแต่เชื่อว่าจะไม่ผลักดันให้จีดีพีไทยในปีนี้โตได้มากกว่า 3%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ไทยจะต้องจับตามองทั้งปีนี้ และปี 59 คือ ความผันผวนในตลาดทุน และตลาดการเงิน โดยมีสาเหตุจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะส่งผลให้เงินไหลกลับเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดการเงิน และตลาดทุน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ค่อนข้างมากแล้ว และเชื่อว่าคงไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ขณะเดียวกัน ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน ที่รัฐบาลจีนมีความตั้งใจที่พยายามลดสัดส่วนการลงทุน และเพิ่มการบริโภคมากขึ้น โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมา โดยให้ธนาคารให้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการบริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก
ด้าน นายยรรยง ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่คาด 3% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% จากเดิมที่ 4.1% โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ และเอกชน
สำหรับการส่งออกในปีนี้ ธปท. คาดว่าส่งออกจะติดลบ 5% และมองไทยจะพึ่งพาการส่งออก หรือจะพึ่งพาการบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยไทยจะต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และพยายามหากลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อความอยู่รอด และพัฒนาขีดความสามารถให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายทางการเงินของ ธปท. มองว่าในภาวะที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง และในระดับอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ก็ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ที่จะช่วยเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และส่งออก อีกทั้ง ธปท.ยังมีการดูแลในเรื่องค่าเงินให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะในระยะสั้นนี้ และเชื่อว่ายังมีเครื่องมือที่เพียงพอถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อค่าเงินเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างแน่นอนนั้น มองว่าไทยน่าจะได้รับผลกระทบบ้างในแง่ของค่าเงินผันผวน และเงินทุนไหลออกแต่ไม่มากนัก จากที่ผ่านมานักลงทุนได้รับรู้ข่าวสารมาพอสมควรแล้ว
ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแผนการปฏิรูปประเทศที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากกว่า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีการเร่งดำเนินการอยู่ หากสำเร็จจะส่งผลทำให้ Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยยังมีจุดดึงดูดเม็ดเงินลงทุนอยู่อีกมาก
ส่วนมาตรการภาครัฐในเรื่องของการดูแลกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย และ SMEs นายยรรยง กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ดีมาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยจะเห็นจากที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกติดลบ และผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อลดลง มาตรการดังกล่าวจะช่วยประคับประคองให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถมีเงินเข้าไปหมุนเวียนได้บ้าง แต่ประเด็นที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ต้องทำ คือ การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนถ้าเกิดขึ้นจริงจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นายสมประสงค์ บุณยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (INTUCH) กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ผ่านมาชะงักไป เนื่องจากภาครัฐที่ชะลอการลงทุนออกไป โดยจะเห็นได้จากการประมูล 4G ที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้ชะลอ แต่ในทางกลับกันภาคเอกชนถือว่ามีความพร้อมการลงทุน ซึ่งได้มีการเตรียมเงินที่จะประมูล การลงทุนโครงข่าย รวมไปถึงบุคลากร โดยหากมีการประมูลเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่ในระบบมากขึ้น การจ้างงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอื่นๆ อีกทั้งยังส่งผลถึงภาษีเงินได้ของบริษัท และบุคคล
ขณะที่ภาพรวมของภาคเอกชนในภาพใหญ่ที่จะก่อให้เกิดการลงทุนน่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ และแหล่งเงินทุน ซึ่งในปีนี้ถือว่าผู้ที่ดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยง และมีความกังวลอย่างมากในการลงทุน ากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกติดลบ