กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์คง ดบ.ที่ระดับ 1.50% ตามคาด เนื่องจากที่ประชุมฯ มองว่า ศก.ไทย ยังชะลอตัว พร้อมคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาส 1/59 ซึ่งช้ากว่าคาดการณ์เดิม และประเมินว่า ศก.ไทย ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากต่างประเทศ รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น พร้อมส่งสัญญาณในระยะต่อไป นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของ ศก. ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (16 ก.ย.) ที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% เนื่องจากยังมองว่า เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาส 1/59 ซึ่งช้ากว่าคาดการณ์เดิม
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม กนง.ยังคาดว่า ปีนี้เศรษบกิจไทยคงจะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% จากผลกระทบปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 และเดือน ก.ค.58 ขยายตัวอย่างช้าๆ การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งจะได้รับผลจากมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ของภาครัฐด้วย
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะกลับเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ซึ่งช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก สะท้อนว่า ราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวสูง หรือปรับขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด
ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ โดยในระยะต่อไปนโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า เศรษฐกิจภาพรวมตอนนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบ ซึ่ง ธปท.ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่คงไม่มีการใช้นโยบายการเงินใดๆ เข้ามาดูแลเป็นพิเศษ เพราะ NPL ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นหลัก ซึ่งยังไม่น่าเป็นกังวล และเชื่อว่าจะไม่ลุกลาม
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน ยอมรับว่า เงินบาทมีความผันผวนมาก ซึ่ง ธปท.เข้าไปดูแลบ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทในระดับปัจจุบันช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ซึ่งการอ่อนค่าที่เกิดขึ้นก็มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมทั้งกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี ธปท.ควรจะดูแลให้ค่าเงินบาทสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ส่วนกรณีเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนหรือไม่นั้น นายเมธี มองว่า การลงทุนคงไม่ได้ยึดเหตุผลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก แต่จะต้องดูผลตอบแทนมากกว่า
ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ของ ธปท.ในปลายเดือนนี้ เบื้องต้น คาดว่า เศรษฐกิจคงขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3% แม้จะมีปัจจัยบวกในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การปล่อยสินเชื่อ กองทุนหมู่บ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยปัจจัยลบที่มีอยู่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย