xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ย1.5%บาทอ่อนดันศก.หวั่นลงทุนเสี่ยงเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ด กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%ต่อปี มองนโยบายการเงินผ่อนคลายช่วงที่ผ่านมา และการอ่อนค่าเงินบาทเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ชี้กำลังดูหลายเครื่องมือนโยบายการเงินอื่นไม่ใช่ดอกเบี้ย เพื่อดูแลภาวะเศรษฐกิจไทย จับตาพฤติกรรมคนหันลงทุนเสี่ยงเพิ่มขึ้นในยุคดอกเบี้ยในประเทศต่ำนาน ส่วนระยะหลังธุรกิจรายใหญ่หันมาออกหุ้นกู้ไม่ได้เกิดผลเสีย หลายแห่งนำไปปรับโครงสร้างหนี้

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ในที่ประชุมบอร์ด กนง.ครั้งที่ 5 ของปีนี้ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินได้ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการอ่อนค่าเงินบาทได้ช่วยการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย แม้เงินบาทอ่อนค่าอาจจะเร็วบ้างในบางช่วง แต่ทิศทางยังเป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจ

“ในการช่วยเหลือเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ เรากำลังดูหลายเครื่องมือนโยบายการเงินด้านอื่น ไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว ขณะเดียวกันเห็นว่าระดับการผ่อนคลายพอควรไม่เป็นอุปสรรคฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพการเงินยังอยู่ระดับจำกัดและยังไม่มีภาคส่วนใดน่าห่วง อย่างไรก็ตามช่วงอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำเป็นเวลานาน เรายังคงติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for yield) อย่างใกล้ชิดต่อไป”

ในที่ประชุมมองว่าครั้งนี้ บอร์ด กนง.ได้ปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ รวมถึงตัวเลขการส่งออกและเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัว ส่วนขนาดการปรับมากน้อยเพียงใดจะประกาศเป็นทางการในรายงานนโยบายการเงินครั้งหน้า คือ วันที่ 25 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ ได้หารือประสิทธิภาพดอกเบี้ยนโยบาย หลังปรับลดช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน โดยผลผ่านตลาดการเงินออกมาค่อนข้างดี ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงทุกครั้งที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยนมีผลส่งผ่านมากขึ้น แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพน้อยลงผ่านธนาคารพาณิชย์

เมื่อมองไปข้างหน้าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในเอเชีย และเศรษฐกิจไทยเองทั้งต้องเผชิญเรื่องภัยแล้ง การส่งออกไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม มองว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ยังมีเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือ ส่วนกรณีทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) นั้นก็มีการพูดคุยในที่ประชุม โดยเห็นว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้อย่างแน่นอน ส่วนจะส่งผ่านมายังตลาดการเงินไทยให้มีความผันผวนมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 7 เดือนที่ผ่านมาจากต้นทุนด้านพลังงานเป็นหลักไม่ใช่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ แต่ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ซึ่งช่วงที่เหลือของปี58 ยังคงติดลบอยู่ในอัตราชะลอลงผลจากฐานราคาน้ำมันสูงที่ทยอยหมดไป ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 3 ของปีนี้แทน จากเดิมประเมินไว้ไม่เกิน 6 เดือน ส่วนเป้าหมายนโยบายการเงินปี 59 แม้ตามกฎหมายจะมีการทบทวนช่วงสิ้นเดือนธ.ค.ของทุกปี แต่มองว่าในทางปฏิบัติไม่ควรเปลี่ยนแปลงเป้าหมายบ่อย ซึ่งปัจจุบันใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2.5% บวกลบ 1.5%ต่อปี

ส่วนกรณีระยะหลังธุรกิจขนาดใหญ่หันมาออกหุ้นกู้แทนขอสินเชื่อในช่วงต้นทุนออกหุ้นกู้ถูกลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นไม่ได้เกิดผลเสียในช่วงเศรษฐกิจชะลอ ซึ่งหลายแห่งมีการออกหุ้นกู้หลายเหตุผล รวมถึงนำไปปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเศรษฐกิจไทยมีการโตแบบช้าๆ ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีไม่มาก อีกทั้งสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังมาก แต่เท่าที่ดูขณะนี้ยังไม่เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (credit crunch).
กำลังโหลดความคิดเห็น