ธปท. ชี้แนวโน้มเงินบาทยังผันผวนจากปัจจัยเฟดปรับดอกเบี้ยเป็นหลัก ระบุตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลงไปประมาณ 2% แต่แข็งค่าขึ้น 2.75% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เตือนให้เอกชนทำประกันความเสี่ยง
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2558 โดยมองว่า เงินบาทยังคงน่าจะผันผวน โดยเฉพาะเมื่อใกล้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพราะตลาดจะมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วที่สุดในช่วงเดือนกันยายน หรืออย่างช้าในช่วงปลายปี ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ควรวางใจต่ออัตราแลกเปลี่ยน และควรทำประกันความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศ
ส่วนค่าเงินบาทที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นระดับที่ผู้นำเข้าและส่งออกพึงพอใจ และช่วยผู้ส่งออกให้มีรายได้จากเงินบาทมากขึ้น และสามารถประคองผู้ส่งออกในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ ภาวะตลาดการเงินไทยตั้งแต่ต้นปี 2558 หากนับจากต้นปี ปัจจุบัน (อัตราปิด ณ วันที่ 20 พ.ค.) เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 2 และการเปลี่ยนแปลงค่าเงินที่ขึ้นลงค่อนข้างเร็วส่งผลให้ความผันผวนปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ประมาณร้อยละ 3-4 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-7% อย่างไรก็ดี ความผันผวนโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค
ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา ค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวผันผวนในสองทิศทางมากขึ้น โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 11 มี.ค. แต่ก็ปรับแข็งค่าขึ้นหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของสหรัฐฯ ซึ่งเนื้อหาในแถลงข่าวเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนปรนกว่าที่ตลาดคาด อีกทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลง รวมทั้งปัจจัยภายในจากการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกของไทย
หลังจากนั้น ในช่วงปลายเดือน เม.ย. หลังจาก กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ประกอบกับ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ออม และนักลงทุนไทยได้ลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างสมดุลให้แก่เงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะยาว ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ร่วมตลาดปรับมุมมองเกี่ยวกับค่าเงินบาท โดยเห็นว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินทรัพย์ จากคำเตือนของประธานเฟด ที่แสดงความกังวลว่าอาจเกิด Overvaluation ในราคาหุ้น และมีความเสี่ยงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะปรับขึ้นเร็ว หากเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ต่างๆ กดดันให้เงินภูมิภาค และเงินบาทอ่อนค่าเร็ว โดยในเดือน พ.ค. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.18-33.88 บาท
สำหรับในระยะต่อไปค่าเงินยังมีแนวโน้มที่จะผันผวนจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ โดยตลาดยังคงจับตาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งจังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ตลาดยังคงกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากส่งผลต่อการส่งออกของภูมิภาคเอเชียที่เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ด้าน น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.75 เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แต่ถือว่าแข็งค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงที่แข็งค่าที่สุดที่ร้อยละ 3.75 ในก่อนหน้านี้ ซึ่งช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาสินค้าเพื่อแแข่งขันได้ง่ายขึ้น ด้านอัตราความผันผวนของค่าเงินอยู่ที่ร้อยละ 6-7 เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ร้อยละ 3-4
ทั้งนี้ ธปท.ยังได้เสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง คือ การเปิดให้วงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้โดยมียอดคงค้างไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโอนเงินออกเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ