xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ ศก.ส่อฟื้นยาก ดบ.ต่ำ ไม่ช่วยเพิ่มการผลิต-ลงทุน เร่งทำค่าบาทอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ยังอ่อนแอ การฟื้นตัวเปราะบาง แม้การใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐมีมากขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวดี เผยเดือนมีนาคม ครัวเรือนชะลอการบริโภค ดอกเบี้ยต่ำแต่ไม่ช่วยเพิ่มการผลิต-ลงทุน มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงเกือบทุกหมวด แบงก์ชาติเดินหน้ากดเงินบาทอ่อนค่าด้วยการขยายเพดานลงทุน-ซื้ออสังหาฯ ต่างประเทศ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2558 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนชะลอการบริโภค ธุรกิจลดการผลิต และการลงทุนลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงในเกือบทุกหมวด โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 จึงยังอ่อนแอ แม้การใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐจะมีมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง

“โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหลังปรับฤดูกาลลดลงในเกือบทุกหมวด เพราะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และอาเซียน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังเปราะบาง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกหลายหมวด เช่น ปิโตรเลียม ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ยังอยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ามันดิบ มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีจึงหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน”

ผอ.ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างอ่อนแอ โดยครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้และการจ้างงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องต่อการส่งออกลดลง รายได้เกษตรกรต่ำลง ทั้งจากผลผลิตที่ออกมาน้อย และราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนที่ไม่รวมเชื้อเพลิง หมวดสินค้ากึ่งคงทน และหมวดบริการลดลง และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

อุปสงค์ทั้งใน และต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง แม้ต้นทุนทางการเงินจะต่ำลงบ้างจากผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งในกลุ่มที่ขายในประเทศ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงเช่นกัน ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนการลงทุนในด้านก่อสร้างทรงตัว เพราะผู้ประกอบการบางส่วนรอประเมินทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลงทำให้การนำเข้าสินค้าลดลงจากเดือนก่อน ทั้งสินค้าทุน วัตถุดิบ (ไม่รวมน้้ำมันดิบ) และสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบที่เคยลดลงมากในช่วงก่อนหน้าเริ่มทรงตัวตามราคาน้ามันโลกที่เริ่มมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น

นายดอน ระบุว่า แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวมีมากขึ้น โดยเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐมีมากขึ้นจากการซื้อสินค้า และบริการ รวมถึงการลงทุนที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านคมนาคม ขนส่ง และชลประทาน ขณะที่รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการปรับขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นส้าคัญ สำหรับภาคการท่องเที่ยว ยังคงขยายตัวดีจากการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน และมาเลเซียเป็นหลัก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลเล็กน้อยจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรง ซึ่งมากกว่าการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรง และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมแล้วดุลการชำระเงินเกินดุล

“เศรษฐกิจไตรมาส 1/2558 ยังอ่อนแอ ตามการส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ลดลง ซึ่งมีส่วนท้าให้การว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ภาครัฐใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการลงทุน และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง” นายดอน กล่าวและว่า ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลง รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงขาดดุลจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเป็นสำคัญ แต่โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

***ขยายเพดานลงทุน-ซื้ออสังหาฯ ตปท.

วานนี้ (30 เม.ย.) นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพิ่ม เพื่อช่วยนักลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อนักลงทุนไทยซื้อดอลลาร์สหรัฐ และไปลงทุนต่างประเทศก็จะมีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างการผลิตของภาคเอกชนให้มีเทคโนโลยีผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดโลก

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการออกมาตรการ คือ การพัฒนาให้ตลาดเงินมีความสมบูรณ์ ซึ่งแผนดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 สำหรับแพกเกจดังกล่าว ธปท.ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้ โดยมียอดคงค้างไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโอนเงินออกเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ธปท.จึงอนุญาตให้บุคคลในประเทศสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนมากขึ้น จึงอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถเป็นนายหน้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศได้ด้วย”

นอกจากนี้ ธปท.ยังเตรียมมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยขยายวงเงินให้ผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศสามารถกู้ยืมเงินบาทจากสถาบันการเงิน โดยไม่มีการค้าการลงทุนในประเทศไทยได้ไม่เกิน 600 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และอนุญาตให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศกู้เงินบาทได้ เพื่อลงทุนในประเทศไทย ยกเว้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการรองรับการขยายการลงทุนระหว่างประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น